data-ad-format="autorelaxed">
คดีทุจริตจำนำข้าวขยายวงกว้าง หัวหน้าคลัง “อคส.- อ.ต.ก.” แฉ โยงเด็กผู้ว่าฯ 36 จังหวัด เหตุถือกุญแจปิด-เปิดคลังกลาง ต้องร่วมชดใช้ความเสียหาย 1.15 แสนล้านด้วย ด้าน “หมอวรงค์” ปรามอย่าใช้ ม.44 แก้ปัญหา หวั่นคู่คดีอ้างถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง
คดีทุจริตจำนำข้าวที่ต้องหาผู้ร่วมชดใช้ค่าเสียหายในส่วน 1.15 แสนล้านบาท ที่”ฐานเศรษฐกิจ” ได้เกาะติดอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ
แหล่งข่าวจากหัวหน้าคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า(อคส.)และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นอกจากหัวหน้าคลังสินค้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของ อคส. และ อ.ต.ก. เจ้าของคลังสินค้าให้เช่า บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว(เซอร์เวเยอร์) ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดใน 36 จังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้มอบหมายให้ดูแลและร่วมถือกุญแจร่วมเปิด-ปิดคลังต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายด้วย
ทั้งนี้ในขั้นตอนรับจำนำข้าวหัวหน้าคลัง จะมีหน้าที่ดูแลปริมาณข้าวสารจากโรงสีที่ส่งเข้ามอบเข้าคลังกลาง ส่วนในการตรวจสอบคุณภาพข้าวทางหน่วยงานจะมีการจ้างเซอร์เวเยอร์ตรวจสอบข้าวเพื่อให้ทราบคุณภาพของข้าวตรงกับมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ กรณีที่ไม่ผ่านจะตีกลับ แล้วบันทึกไว้ในรายงาน ส่วนข้าวที่มีคุณภาพจะทำการเก็บเข้าคลัง จากนั้นไปชั่งน้ำหนัก และนำข้าวไปเก็บเข้าคลังลำเลียงโดยกรรมกรแบกขนข้าว
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า เมื่อนำข้าวสารเข้าคลังสินค้าแล้ว จะทำการสรุปยอด การส่งมอบ ข้าวสารของแต่ละโรงสีว่ามีปริมาณรับมอบเท่าใดในแต่ละวัน และจะทำการสรุปยอดรวมการส่งมอบข้าวสารเข้าคลังสินค้ารวมของคลังสินค้ากลางในแต่ละวันด้วย โดยจะทำรายงานข้อมูลดังกล่าวไปที่ต้นสังกัด และการค้าภายในจังหวัด
“ในการเรียงกองข้าวสาร ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าคลัง ระบุว่า 1 กอง ไม่เกิน 2 หมื่นกระสอบ สูงไม่เกิน 30 ชั้นกระสอบ และก่อนที่จะทำการปิดคลังสินค้าจะทำการแจ้งทางจังหวัด เพื่อให้จัดตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบสต๊อกปริมาณที่รับไว้จากนั้นก็จะทำการปิดคลังสินค้ากลาง โดยผู้ถือกุญแจ คือ หัวหน้าคลัง เซอร์เวเยอร์ประจำคลังสินค้ากลางและตัวแทนจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เวลามาปิด- เปิดคลังผู้ที่ถือกุญแจต้องมาพร้อมกันทั้ง 3 ฝ่าย ส่วนปีสุดท้ายการโครงการรับจำนำ ปี 2556/57 จะให้เจ้าของคลังร่วมถือกุญแจด้วยรวมเป็น 4 ฝ่าย”
ขณะที่ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม นายกสมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น เผยว่า ทางสมาคมเคยเข้าไปคุยกับกระทรวงพาณิชย์ว่า โครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรของรัฐบาล คลังที่เก็บรักษาผลผลิต ควรจะมีใบอนุญาตประกอบการคลัง หรือใบรับรอง จะทำให้สินค้านั้นเสียหายน้อย แต่ในข้อเท็จจริงคลังให้เช่าของเอกชนส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาต
ด้านน.พ. วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมูลค่าความเสียหาย 1.15 แสนล้านบาท คาดเป็นตัวเลขประมาณการณ์ เพราะไม่สามารถที่จะลงไปตรวจสอบทีละกระสอบได้ 100% การชดใช้ในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องใช้ พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ส่วนกับเอกชนต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ส่วนข่าวในตอนแรกที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวความคิดจะใช้ ม.44 ในการแก้ไขปัญหานั้นในคดีนี้ ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าฝ่ายตรงข้ามจะเชื่อมโยงว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 – 22 มีนาคม พ.ศ. 2560