data-ad-format="autorelaxed">
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยได้สั่งการให้กรมชลประทานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำโมเดลการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับวิกฤติแล้งในปี 2560 โดยให้ทำสมดุลน้ำทั้งหมดเพื่อวางแผนการบริหารจัดการ และเตรียมมาตรการสนับสนุน เช่นการปฏิบัติการฝนหลวง หรือการประสานกับกระทรวงมหาดไทยในการจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือนอกเขตชลประทาน
ทั้งนี้ได้ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน
"ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งโครงการชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำให้เพิ่มขึ้น ซึ่งผลจากการที่รัฐบาลนี้ได้เข้ามา ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในประเทศได้รวม 1,613 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จาก 1,122 โครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.7 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมชลฯปรับแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี โดยให้นำโครงการที่สำคัญที่ต้องดำเนินการในปี 2562-63 มาวางเป็นโครงการในปี 2560 -61 เพื่อแก้ไขปัญหาแล้งและอุทกภัยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่ท่วมซ้ำซาก โดยเป็นโครงการที่กรมชลฯได้เตรียมของบประมาณสนับสนุนในปี 2560 จำนวน 3.2 พันล้านบาท ใน 66 โครงการ และสำหรับสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำ 111 แห่ง กรมชลฯได้รายงานต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้วคาดว่าจะใช้ประมาณ 1 พันล้านบาท"รมว.เกษตรฯกล่าว
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้นำปริมาณน้ำและการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยามาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทำเป็นโมเดลเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำ พบว่าในปี 2560 ในฤดูแล้ง 3 เดือน ระหว่าง ก.พ.- เม.ย. จะมีน้ำเพื่อการอุปโภคครบทุกอำเภอ
"แต่กรณีน้ำเพื่อการเกษตร คาดว่าใน 3เดือนนี้จะมีพื้นที่ เสี่ยงขาดน้ำในระดับวิกฤตประมาณ 105 อำเภอ ในพื้นที่ 34 จังหวัด หรือ 12% จาก 887 อำเภอ โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยเป็นพื้นที่ใกล้งวิกฤต 9 จังหวัด 19 อำเภอและ พื้นที่เฝ้าระวัง 32 จังหวัด 86 อำเภอ ทั้งนี้ในพื้นที่ดังกล่าวคาดว่าจะผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวประมา 8.2 แสนไร่ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มี 152 อำเภอ 42 จังหวัด"นายทองเปลวกล่าว
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ในการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปีวันที่ 3 มี.ค. 2560 จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายพิจารณาจากข้อมูลพื้นที่ประสบภัยแล้ง พื้นที่ขอรับบริการฝนหลวง พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนเพื่อเติมน้ำต้นทุน ทั้งนี้ต้องพิจารณาพื้นที่ไม่ต้องการฝน เช่น พื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเมื่อเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว จะมีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติการด้วย
สำหรับเดือนมี.ค.-เม.ย. ของทุกปี ในบริเวณภาคเหนือ จะเน้นปฏิบัติการในพื้นที่ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมีการติดตามค่าฝุ่นละอองในอากาศอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ค่าไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. หากพบเกินปริมาณที่กำหนด ก็จะสามารถเข้าปฏิบัติการบรรเทาปัญหาได้ทันที นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล และแม่กวงอุดมธารา ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นป่า และการเติมน้ำในเขื่อน สำหรับพื้นที่การเกษตรนั้นอยู่ในระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นส่วนใหญ่
ขณะเดียวกันในช่วงวันที่ 23 – 25 ก.พ. นี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และพบว่ามีแนวโน้มที่จะสามารถเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณเขื่อนลำตะคองได้ และสำหรับภาคกลาง คาดว่าสภาพอากาศจะเหมาะสมในการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. เป็นต้นไป
สำหรับสถานการณ์น้ำใช้การได้ใน 34 เขื่อนหลัก พบว่า มีน้ำใช้การได้ 21,781 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 8,356 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ณ ปัจจุบัน ( 21 ก.พ. 60) มีน้ำใช้การได้ 7,211 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 4,110 ล้าน ลบ.ม. (ปีที่แล้ว ณ วันเดียวกัน มีน้ำใช้การได้ 3,101 ล้าน ลบ.ม.) นอกจากนี้ ช่วงฤดูแล้งในระหว่างเดือน ก.พ. – เม.ย. 60 กรมชลประทานได้มีการทำวิเคราะห์โดยการทำสมดุลน้ำร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ GISTDA กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
source: posttoday.com/biz/gov/482164