data-ad-format="autorelaxed">
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาข้าวสารสต๊อกรัฐบาลปริมาณ 2.86 ล้านตัน มีผู้ยื่นซองเสนอราคาทั้งหมด 66 ราย จากผู้ผ่านคุณสมบัติทั้งหมด 73 ราย ซึ่งหลังเปิดซองราคาพบว่ามีผู้เสนอราคาซื้อสูงสุดจำนวน 48 ราย ใน 185 คลัง ปริมาณ 2.03 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 70.98% ของปริมาณที่เปิดประมูลทั้งหมด มูลค่าที่เสนอซื้อประมาณ 1.85 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ชนิดข้าวที่มีผู้เสนอราคาซื้อมากที่สุด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปริมาณ 7.45 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 26.05% รองลงมา ได้แก่ ข้าวขาว 5% ปริมาณ 4.79 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 16.75%
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวจะพิจารณาผลการเปิดซองราคา เพื่อสรุปผลผู้เสนอราคาสูงสุดให้ประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) อนุมัติต่อไป คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.นี้
สำหรับการเปิดประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาลในรอบต่อไป คาดว่าจะเปิดระบายได้ในเดือน มี.ค.นี้ จะเป็นข้าวกลุ่มที่ 2 หรือข้าวที่มีเกรดซีปนเกินกว่า 20% ต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยกำลังพิจารณาปริมาณที่จะนำมาเปิดระบายว่ามีปริมาณเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาข้าวในตลาด
ทั้งนี้ การระบายข้าวสต๊อกรัฐบาลผ่านรัฐบาลชุดปัจจุบันมีการระบายออกไปแล้ว 8.7 ล้านตัน สามารถรับมอบข้าวได้ 7.7 ล้านตัน เหลืออีก 1 ล้านตัน แบ่งเป็น 2 ส่วน คืออยู่ระหว่างการรับมอบข้าวตามสัญญาและอีกส่วนติดปัญหาด้านคุณภาพข้าวทำให้ไม่สามารถรับมอบได้
นางดวงพร กล่าวว่า ในส่วนข้าวที่ติดปัญหาคุณภาพนั้น ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อแก้ไขปัญหาข้าวที่ไม่ได้คุณภาพจนรับมอบไม่ได้ โดยจะเร่งสะสางปัญหาให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้เนื่องจากการรับมอบข้าวไม่ได้จะเป็นอุปสรรคต่อการเปิดระบายข้าวสต๊อกรัฐบาลในล็อตใหม่ๆ เพราะผู้ที่ประมูลไปแล้ว แต่ไม่สามารถรับมอบข้าวไปขายได้ จะประสบปัญหาเรื่องการนำเงินมาร่วมประมูลข้าวสต๊อก รัฐบาลล็อตใหม่
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าหากระบายข้าวที่ใช้เพื่อการบริโภคหมด 2.86 ล้านตัน จะทำให้เหลือข้าวอีก 5.3 ล้านตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าจะระบายข้าวออกจากสต๊อกได้หมดภายในปีนี้
source: posttoday.com/biz/gov/481314