data-ad-format="autorelaxed">
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 14 ก.พ.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะทำหนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ ตามคำสั่งบังคับทางปกครองกรณีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ให้กับกรมบังคับคดีดำเนินการกับนักการเมืองและข้าราชการรวม 6 คน
รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า 6 รายที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และ พ.ต.ท.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี
"ขณะนี้กรมบังคับคดีได้ส่งแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ ที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องจัดส่งข้อมูลมาให้แล้ว โดยกรมการค้าต่างประเทศจะดำเนินการแล้วเสร็จและจัดส่งเอกสารทั้งหมดให้กรมบังคับคดีวันที่ 14 ก.พ. 2560 เพื่อดำเนินการตั้งเรื่องบังคับทางปกครองให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชดเชยค่าเสียหายต่อไป" น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คดีนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 57 ซึ่งอนุญาตให้นำวิธีพิจารณาความแพ่ง (วิ.แพ่ง มาตรา 271) มาใช้โดยอนุโลม โดยเริ่มจากโจทก์ (กรมการค้าต่างประเทศ) ยื่นตั้งเรื่องยึดอายัดทรัพย์ พร้อมวางค่าใช้จ่าย และส่งเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะยึด ซึ่งขั้นตอนนี้ทางฝ่ายโจทก์ต้องเป็นผู้ไปดำเนินการสืบทรัพย์ หาข้อมูลว่าทั้ง 6 ราย มีทรัพย์สินรายการใดบ้าง และต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โฉนดที่ดินต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานที่ดิน หรือบัญชีธนาคารระบุชื่อผู้ที่ต้องการยึดทรัพย์ เป็นต้น มาประกอบการพิจารณา
“เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีจะพิจารณาคำขอยึดทรัพย์ จากนั้นจะรายงานต่อศาล เพื่อขออนุญาตขายทรัพย์หรือขายทอดตลาด แต่หากรายการทรัพย์สินของผู้ที่ถูกยึดไม่เพียงพอต่อมูลค่าหนี้ที่ต้องชำระ จะต้องไปพิจารณาขั้นตอนทางปกครอง คือ กระทรวงพาณิชย์ต้องหารือกับกรมบัญชีกลางว่าจะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร โดยการพิจารณาสืบและยึดทรัพย์ทางแพ่งจะมีอายุความ 10 ปี” น.ส.รื่นวดี กล่าว
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จะทำหนังสือตั้งเรื่องกับทั้ง 6 ราย ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจีทูจีข้าวไปให้กรมบังคับคดีทั้งหมด จากนั้นจะมีการสืบทรัพย์และส่งข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งยอมรับว่ากรมไม่มีประสบการณ์ดำเนินการมาก่อน และมีขั้นตอนทางเทคนิคค่อนข้างมาก ทำให้ต้องใช้เวลา โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีความขัดแย้ง หรือความผิดพลาด เพราะมีการหารือกับกรมบังคับคดีตั้งแต่เดือน ส.ค. 2559 เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด
“กระบวนการดำเนินการสืบทรัพย์ ยึด อายัดทรัพย์ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง ไม่ได้รอว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งยกคำร้องตามที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ร้องต่อศาลให้คุ้มครองหรือไม่ เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้ว” นางดวงพร กล่าว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การอายัดทรัพย์แม้จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมบังคับคดี แต่นายกรัฐมนตรีควรเข้ามาควบคุมกำกับให้ดำเนินการรวดเร็ว เพราะล่าช้ามานาน และต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
source: posttoday.com/biz/gov/480544