data-ad-format="autorelaxed">
มื่อวันที่ 9-11 มกราคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี โดยนายมนตรี ปานตู นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ นายเชิดศักดิ์ เฉยกึ้น นักวิชาการเกษตร และนายพิษณุ นวมขำ นักวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามเก็บข้อมูลผลผลิต แปลงศึกษาการจัดการธาตุอาหารเพื่อลดความรุนแรงโรคใบขาวในอ้อย ณ แปลงเกษตรกร บ้านทุ่งพัฒนา ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี
ทั้งนี้เนื่องจากโรคใบขาวของอ้อยจัดเป็นโรคที่สำคัญอันดับหนึ่งของอ้อย เนื่องจากหากเกิดระบาดแล้วจะทำความเสียหายให้กับแปลงปลูกอ้อยอย่างมาก และกว้างขวาง ยากที่จะทำการป้องกันกำจัด
ซึ่งหลังจากที่พบโรคนี้ 1 ปี คือเมื่อ พ.ศ.2499 ที่จังหวัดลำปางมีโรคใบขาวระบาดทำความเสียหาย 500 ไร่ จากนั้นอีก 6-7 ปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2505-2506 ก็ระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า และทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 50% ในปี 2517 ซึ่งนักวิชการประมาณการว่าหากโรคนี้ทำความเสียหายกับอ้อยในพื้นที่ 50,000 ไร่ จะคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทในการสูญเสีย ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีความเสียหาย เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโรคมีการระบาดค่อนข้างกว้างขวางและเป็นปัญหาของชาวไร่อ้อยในเกือบทุกแหล่งปลูกในปัจจุบัน
โรคใบขาวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกระยะการเจริญเติบโตของอ้อย โดยอาการจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในระยะกล้า อ้อยแตกกอฝอยมีหน่อเล็ก ๆ ที่มีใบสีขาวจำนวนมาก คล้ายกอหญ้า หน่อไม่เจริญเป็นลำ หากอาการโรครุนแรงอ้อยจะแห้งตายทั้งกอในที่สุด หากหน่ออ้อยในกอเจริญเป็นลำได้ ลำอ้อยที่ได้จะไม่สมบูรณ์ อาจมีใบขาวที่ปลายยอด หรือมีหน่อขาวเล็ก ๆ งอกจากตาข้างของลำ บางครั้งอาการของโรคจะมีลักษณะแฝง
มักพบเสมอในอ้อยปลูกปีแรก โดยอ้อยเป็นโรคเจริญเติบโตเป็นลำ มีใบสีเขียวคล้ายอ้อยปกติ มีเพียงหน่อขาวเล็ก ๆ ที่โคนกอ แต่อาการโรคจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในอ้อยตอในระยะเวลาต่อมา รวมทั้งแหล่งระบาดที่สำคัญของโรค ซึ่งเมื่อนำอ้อยที่มีอาการแฝงคล้ายอ้อยปกติดังกล่าวไปปลูกต่อ ก็จะทำให้โรคระบาดต่อไปได้อย่างกว้างขวาง
อาการของโรคปรากฏทั้งบนอ้อยปลูกและอ้อยตอ ในบางครั้งพบว่าอ้อยเป็นโรคตั้งแต่เริ่มปลูก บางครั้งพบเมื่อเป็นอ้อยตอ ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากปริมาณของเชื้อสาเหตุของโรคว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน พอที่จะทำให้อ้อยแสดงอาการของโรคหรือไม่
โรคใบขาวของอ้อยแพร่ระบาดโดยมีเชื้อติดไปกับท่อนพันธุ์อ้อย นอกจากนั้นยังมีเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล เป็นแมลงพาหะ ถ่ายทอดเชื้อจากกออ้อยที่เป็นโรคไปยังกออ้อยปกติในไร่ พบจำนวนมากในช่วงฤดูฝน
ระบาดรุนแรงในเขตพื้นที่ปลูกอ้อยที่เป็นดินทราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอน แก่น ในเขตพื้นที่ปลูกอ้อยภาคตะวันออก จ.สระแก้ว รวมทั้งพื้นที่ปลูกภาคกลางและภาคตะวันตก จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร ราชบุรี กาญจนบุรี ลงไปถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์
และในการศึกษาครั้งนี้ จะเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาโรคใบขาวให้กับเกษตรกร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุปและช่องทางในการแก้ไขต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนแล้วจึงขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของเกษตรกรต่อไป
source: dailynews.co.th/agriculture/551373