data-ad-format="autorelaxed">
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อกำหนดรูปแบบการลอยตัวและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย โดยเบื้องต้นกำหนดแนวทางการลอยตัว 2 แนวทาง คือ การกำหนดเพดานราคาไว้เป็นขั้นสูงและขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการกำหนดไว้เป็นทางเลือกเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติอาจทำได้ยากเนื่องจากยังอยู่ในรูปแบบที่อาจมีผลกระทบในภายหลัง
สำหรับแนวทางที่ 2 คือ การลอยตัวราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฤดูการผลิต 2560/2561 คือช่วงเดือน ต.ค. 2560 ขณะเดียวกันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะต้องชำระหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ให้หมดในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตหากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ไปประเมินความเสี่ยงผลดีและผลเสียของการลอยตัวน้ำตาลทรายและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายเพื่อจะเสนอเป็นแนวทางให้ชาวไร่ โรงงานน้ำตาลทราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประเมินผลกระทบและจะนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 26 ม.ค. 2560
"ตามกรอบการลอยตัวที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ คือ ช่วงต้นฤดูหีบอ้อยปี 2560/2561 หรือประมาณเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้แจ้งกับทางการบราซิลว่าโครงสร้างน้ำตาลใหม่จะเริ่มในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากหนี้กองทุนอ้อยฯ ไม่สามารถชำระได้ทันก็อาจเลื่อนการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายออกไปเป็นไม่เกินเดือน เม.ย. 2561 เพราะหนี้กองทุนฯ จะหมดแล้ว แต่ยืนยันว่าขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีของการลอยตัวเพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 23.50 บาท/กิโลกรัม เพราะราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 20 เซนต์/ปอนด์ แต่หากล่าช้าออกไปจะมีความเสี่ยงจากการปรับตัวในราคาตลาดโลก" นายสมศักดิ์ กล่าว
สำหรับการยกเลิกโควตามีการหารือกับบราซิลแล้ว ซึ่งบราซิลเห็นด้วยกับการยกเลิกโควตา แต่ต้องมีการสต๊อกเพื่อลดความเสี่ยง (บัฟเฟอร์ สต๊อก) แต่ยังต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสมว่าควรอยู่ที่เท่าใด โดยเบื้องต้นมองว่า ควรอยู่ที่ 30 ล้านตัน ซึ่งเป็นการคำนวณจากปริมาณน้ำตาลโควตา ก. เพื่อบริโภคในประเทศ 2.6 ล้านตัน และส่วนหนึ่งของโควตา ค.เป็นส่วนการผลิตเพื่อส่งออกแต่กันไว้ใช้ในประเทศ 3-4 แสนตัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านตัน
ด้านการเก็บเงินค่ารักษาเสถียรภาพเข้า กท. ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่คำนวณจากปริมาณอ้อยเข้าหีบ ปีการผลิต 2558/2559 อยู่ที่ 94 ล้านตัน โดยหักเงินจากชาวไร่และโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70:30 หรือเรียกเก็บเงินทุกตันอ้อยอยู่ที่ 11 บาท ซึ่งจะมีเงินส่งเข้า กท. อยู่ที่ 1,030 ล้านบาท และเงินจากการขายน้ำตาลที่ต้องส่งเข้า กท. เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท/เดือน ดังนั้น หากจัดเก็บเงินส่งเข้า กท.ได้ตามเป้าหมายในปีนี้จะมีเงินรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ กท.สามารถชำระหนี้เดิมได้
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างทั้งหมดจะมีความชัดเจนภายในเดือน ก.พ.นี้ ก่อนนำไปหารือกับตัวแทนจากบราซิลและองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือน มี.ค. 2560 หลังจากนั้นจะได้นำมาปรับอีกครั้งหากมีประเด็นที่ยังต้องการให้แก้ไขก่อนจะมีการบังคับใช้จริง ช่วงก่อนการหีบอ้อยฤดูการผลิต 2560/2561
source: posttoday.com/biz/gov/475663