data-ad-format="autorelaxed">
โรงงานเอทานอลแห่ร่วมประมูลข้าวเน่า 5 ล้านตัน รอเพียงกระบวนการจากกระทรวงพาณิชย์ชัดเจนภายในม.ค.นี้ พร้อมเสนอราคาประมูลตามเปอร์เซ็นต์แป้ง คาดอยู่ที่ 1-1.50 บาทต่อกิโลกรัม ฟากกรมธุรกิจพลังงานเตรียมเรียกผู้ผลิตเอทานอลหารือเร็วๆ นี้หลังมีผู้ประกอบการ 11 ราย ให้ความสนใจ
นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ จะเปิดให้มีการประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพปริมาณ 5 ล้านตัน ในช่วงต้นปีนี้ ทางสมาคมฯพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการประมูล เพื่อนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเป็นเอทานอล โดยขณะนี้มีโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังประมาณ 7-8 ราย มีความพร้อมแล้ว แต่ทางสมาคม ต้องรอหารือรายละเอียดกับทางกรมธุรกิจพลังงานให้ชัดเจนก่อน โดยเฉพาะราคาเอทานอลที่ผลิตออกมา
โดยที่ผ่านมาได้หารือเบื้องต้นไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุปออกมา เพราะต้องรอกระบวนการจำหน่ายจากทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสมาคมฯเคยเสนอราคาประมูลจะต้องคิดตามเปอร์เซ็นต์แป้งเทียบกับมันเส้น โดยปกติเปอร์เซ็นต์แป้งจากมันเส้นจะอยู่ที่ประมาณ 65-70% นอกจากนี้ควรให้ผู้ประกอบการเอทานอลสามารถเข้าตรวจสอบคุณภาพข้าวในโกดังเพื่อประเมินความเสี่ยง เพราะการประมูลที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบคุณภาพข้าวภายในโกดังได้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันสมาคมฯยังไม่มั่นใจว่าข้าวเสื่อมคุณภาพดังกล่าวจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งมากน้อยเพียงใด เนื่องจากข้าวผ่านการเก็บมานานแล้ว ขณะที่เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมายังพอมีเปอร์เซ็นต์แป้งบ้าง แต่รัฐปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2560 ทำให้คุณภาพข้าวเสื่อมลงมาก แต่เมื่อกระทรวงพาณิชย์ต้องการให้ผู้ประกอบการนำข้าวเสื่อมคุณภาพดังกล่าวมาผลิตเป็นเอทานอล ทางสมาคมฯก็ยินดี แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากคุณภาพข้าวในแต่ละโกดังไม่เหมือนกัน เปอร์เซ็นต์แป้งไม่เท่ากัน คาดว่าราคาประมูลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1-1.50 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้การประมูลข่าวเสื่อมคุณภาพดังกล่าว ส่วนตัวมองว่าหากไม่คิดถึงแง่เศรษฐกิจของประเทศ ความน่าสนใจที่จะนำข้าวไปผลิตเอทานอลมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังก็มีคู่ค้าเกษตรกรอยู่แล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมก็เซ็นสัญญา(เอ็มโอยู)กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับซื้อมันสดราคาขั้นต่ำ 1.90 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อรัฐขอให้นำข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเอทานอล ทางผู้ประกอบการก็พร้อมให้ความร่วมมือ ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังที่อยู่พื้นที่โกดัง อาทิ อุบลราชธานี ขอนแก่น ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว และนครราชสีมา
“โรงงานเอทานอลยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อนำข้าวเน่ามาผลิตเอทานอล ซึ่งทางกรมธุรกิจพลังงานแจ้งว่าจะหารือรายละเอียดอีกครั้งหลังปีใหม่ ตอนนี้ยังรอกระบวนการจำหน่ายจากทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสมาคมเคยเสนอว่าให้คิดราคาตามเปอร์เซ็นต์แป้ง โดยมองว่าการเปิดประมูลน่าจะเร่งดำเนินการก่อนฤดูฝน เพราะข้าวดังกล่าวเก็บมาหลายปี ยิ่งเก็บยิ่งเน่า ค่าเช่าโกดังก็ต้องเสีย และจะได้มีพื้นที่เก็บข้าวฤดูกาลใหม่ อย่างไรก็ตามราคาประมูลจะต้องยุติธรรม คิดตามเปอร์เซ็นต์แป้ง” นายเดชพนต์ กล่าว
ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอลว่า บริษัทสนใจร่วมประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยสามารถนำมาผลิตได้ที่โรงงานเอทานอล อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1.5 แสนลิตรต่อวัน แต่ราคาข้าวจะต้องไม่เกิน 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันต้องมีข้อมูลเปอร์เซ็นต์แป้งจากข้าวก่อนว่ามีปริมาณเท่าไร คุ้มหรือไม่ที่จะนำมาผลิตเอทานอล เนื่องจากโรงงานเอทานอลของบริษัทที่น้ำพอง ต้องจ้างบดข้าวเป็นแป้งก่อนเพื่อนำมาผลิตเอทานอล จึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า กรมฯเตรียมเรียกผู้ประกอบการเอทานอลจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล เข้าหารือรายละเอียดกรณีการประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพเพื่อผลิตเอทานอลเร็วๆนี้ แต่จะต้องรอรายละเอียดจากทางกระทรวงพาณิชย์ก่อนว่าจะให้กระทรวงพลังงานช่วยนำข้าวดังกล่าวมาผลิตเอทานอลหรือไม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะทำหน้าที่ประสานไปยังผู้ประกอบการโรงงานเอทานอล เพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอลต่อไป
ทั้งนี้ จากการหารือเบื้องต้นกับทางผู้ประกอบการโรงงานเอทานอลพบว่า มีเอกชนที่พร้อมให้ความร่วมมือหลายราย ในการนำข้าวเสื่อมคุณภาพในสต๊อกของรัฐบาลที่มีอยู่ประมาณ 5 ล้านตัน มาผลิตเอทานอล ซึ่งเบื้องต้นมีโรงงานที่มีศักยภาพพร้อมนำเข้ามาผลิตได้ 11 ราย ในจำนวนนี้ เป็นโรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังประมาณ 7 ราย และโรงงานเอทานอลจากกากน้ำตาล(โมลาส)ที่สามารถปรับมาใช้วัตถุดิบอื่นได้ 4 แห่ง
source: thansettakij.com/2017/01/12/124388