data-ad-format="autorelaxed">
กระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอของบกลางหมื่นล้านบาททำคลองผันน้ำเพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำ จ.นครศรีธรรมราช
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกลัยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการให้ทุกหน่วยช่วยเหลือน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยส่วนกลางต้องวางแผนอำนวยการ ดูภาพรวม เพื่อแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์
"สำหรับแผนการช่วยเหลือระยะสั้นได้เรียนต่อพล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ได้จัดทำคลองผันน้ำ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เพิ่มอัตราการระบายน้ำจากที่มีในปัจจุบัน ได้อีก 5 เท่าตัว ใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมจะดำเนินการปี2561 แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าต้องเร่งทำจึงจะเสนอครม.ของบกลางเพื่อดพเนินการในปี60เลยซึ่งจำนวนดังกล่าวร่วมทั้งการอพยบคนในพื้นที่โครงการด้วย หากไม่ทำปีหน้าก็คาดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้อีก ดังนั้รคาดว่าเมื่อดำเนินการแล้ว ปัญหาน้ำท่วมจากคลองท่าดีจะบรรเทาลงไปมาก" รมว.เกษตรฯกล่าว
ทั้งนี้กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ สรุปได้ดังนี้
- เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 59 - ปัจจุบัน
- มีผลกระทบใน 8 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา
ความรุนแรงสถานการณ์ แยกเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ดังนี้
1. จังหวัดที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติใน 1 - 2 วัน มี 3 จังหวัด (จ.ตรัง ปัตตานี และ ยะลา)
- จ.ตรัง น้ำในแม่น้ำตรังมีระดับต่ำ สามารถระบายน้ำได้ดี พื้นที่ส่วนใหญ่เข้าสู่สภาวะปกติ เว้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ
- จ.ปัตตานี/ยะลา มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน มีฝนสะสม 3 วัน สูงสุดที่ อ.ไม้แก่น 324 มม. อ.สายบุรี 223 มม. น้ำระบายได้ดี และ คาดว่าไม่มีฝนเพิ่มเข้ามาอีก
2. จังหวัดที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติใน 3 - 4 วัน มี 3 จังหวัด (จ.นราธิวาส สุราษฎร์ธานี และ ชุมพร)
- จ.นราธิวาส มีฝนสะสม 3 วัน สูงสุดที่ อ.สุไหงปาดี 222 มม. และ อ.บาเจาะ 204 มม. น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำโกลก ระดับน้ำสูง 0.30 - 0.50 ม. น้ำระบายได้ดี คาดว่าไม่มีฝนเพิ่มเข้ามาอีก
- จ.สุราษฎร์ธานี มีฝนสะสม 3 วัน สูงสุดที่ อ.ไขยา 302 มม. เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 8 อำเภอ ระดับน้ำในแม่น้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 0.46 - 0.69 ม. น้ำระบายได้ดี แต่คาดว่าในอีก 1 - 2 วัน มวลน้ำจะไหลไปท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.แสวงหา
- จ.ชุมพร มีฝนสะสม 3 วัน สูงสุดที่ อ.ละแม 474 มม. และ อ.ทุ่งตะโก 426 มม.ทำให้น้ำหลากท่วมเขต อ.เมือง สูง 0.50 - 0.80 มม. น้ำสามารถระบายได้ดี
3 จังหวัดที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติใน 6 - 7 วัน มี 2 จังหวัด (จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช)
- จ.พัทลุง ฝนสะสม 3 วัน ทั้งจังหวัดที่ 488 มม. มี 11 อำเภอ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำติดทะเลสาปสงขลา ได้รับผลกระทบ มีระดับน้ำท่วม 0.30 - 0.60 ม. ซึ่งต้องระบายน้ำออกจากทะเลสาปสงขลาลงอ่าวไทยผ่านคาบสมุทรสทิงพระ ตามการขึ้นลงของน้ำทะเล
- จ.นครศรีธรรมราช มีฝนสะสม 3 วัน สูงสุดที่ อ.เมือง 700 มม. และ อำเภอโดยรอบ 7 อำเภอ เกิน 450 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วม แยกเป็น 3 ส่วน
1. อ.เมือง รับน้ำจากเขาหลวงผ่านคลองท่าดี ไหลผ่านเขตเมือง แต่เนื่องจากน้ำมีปริมาณมากกว่าขีดความสามารถของคลอง ทำให้น้ำเอ่อท่วม ทุกส่วนกำลังช่วยกันผลักดันน้ำลงทะเล
- พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ตอนต้นน้ำ คือ อ.ชะอวด อ.หัวไทร และ อ.เชียรใหญ่ มีน้ำท่วม 0.30 - 0.50 ม. ขณะนี้ มวลน้ำกำลังไหลไปที่ อ.ปากพนัง ซึ่งไม่มีฝนในพื้นที่ ทาง ชป. ได้พร่องน้ำในพื้นที่แล้ว จะมีผลกระทบไม่มาก
- อำเภออื่นๆ ในพื้นที่ลุ่มต่ำอีก 6 อำเภอ มีระดับน้ำท่วม 0.20 - 0.70 ม. น้ำยังระบายได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจากการวิเคราะห์ในข้างต้น จะต้องเร่งช่วยเหลือ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในเขตเมืองโดยด่วน
สำหรับการช่วยเหลือของ กรมชลประทานเบื้องต้นได้ สนับสนุน
- เครื่องสูบน้ำ รวม 110 เครื่อง
- เครื่องผลักดันน้ำ รวม 52 เครื่อง
- สถานีสูบน้ำไฟฟ้า 4 สถานี
- เครื่องจักรหนักจากส่วนกลาง และ อื่นๆ
โดยการช่วยเหลือวางน้ำหนักที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นส่วนใหญ่ แต่ในจังหวัดอื่นๆ ยังมีการช่วยเหลือตามสถานการณ์
สำหรับรายงานผลกระทบเบื้องต้นที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ สรุปได้ดังนี้
1. ด้านพืช
- พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 8,713 ไร่
- ข้าว 3,615 ไร่ พืชไร่ 615 ไร่ พืชสวน/อื่นๆ 4,483 ไร่
2. ด้านประมง
- พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 318.75 ไร่
- บ่อปลา 268.75 ไร่ บ่อกุ้ง 50 ไร่
3. ด้านปศุสัตว์
- สัตว์ได้รับผลกระทบ 1,794,694 ตัว
- โค/กระบือ 79,251 ตัว สุกร 65,249 ตัว แพะ/แกะ 22,149 ตัว สัตว์ปีก 1,628,045 ตัว
- แปลงหญ้า 5,493 ไร่
อย่างไรก็ตามจะมีการสำรวจความเสียหายหลังน้ำลดอีกครั้ง
source: posttoday.com/biz/gov/474337