data-ad-format="autorelaxed">
ในปี 2560 กูรูหลายสำนักต่างฟันธงเห็นพ้องกันว่า สถานการณ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยมีแนวโน้มจะสดใสและดีขึ้นมากกว่าในปีที่ผ่านมา ผลจากทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว สัญญาณจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญของไทยล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวมากกว่า 15% ยกแผง ทั้งข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
อย่างไรก็ดีทิศทางสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยในปีใหม่นี้จะดีขึ้นจริงหรือไม่ ขอหยิบยกบทวิเคราะห์ทิศทางสินค้าเกษตรไทยในปี 2560 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)โดยเลือกสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงและเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศมานำเสนอไว้ดังนี้
ข้าว : ผลผลิตคู่แข่งพุ่งแข่งรุนแรง
โดยในส่วนของสินค้าข้าว กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา คาดการณ์สถานการณ์ข้าวโลกในปี 2559/2560 จะมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 1,014.12 ล้านไร่ ผลผลิต 483.80 ล้านตันข้าวสาร (721.30 ล้านตันข้าวเปลือก) ผลผลิตต่อไร่ 712 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2558/59 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 994.81 ล้านไร่ ผลผลิต 472.11 ล้านตันข้าวสาร (703.80 ล้านตันข้าวเปลือก) และผลผลิตต่อไร่ 707 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 1.94% 2.48% และ 0.71% ตามลำดับ ส่วนการบริโภคข้าวโลกคาดว่าจะมีปริมาณ 478.38 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 470.37 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้น 1.70% เทียบจากปีก่อน ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น เช่น ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา จีน อียิปต์ สหภาพยุโรป เวียดนาม สหรัฐอเมริกาและไทย
อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยลบจากที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ประเทศผู้บริโภคข้าวและนำเข้าข้าวที่สำคัญ มีนโยบายพึ่งพาตนเองด้วยการปลูกข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการนำเข้า ขณะที่ประเทศคู่แข่ง ทั้งอินเดีย เวียดนาม และปากีสถาน มีผลผลิตที่ดี จากปรากฏการณ์ลานิญา ทำให้มีปริมาณฝนตกมากขึ้น จะทำให้การแข่งขันส่งออกข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ไนจีเรียหนึ่งประเทศนำเข้าข้าวสำคัญจากไทย ได้ห้ามผู้นำเข้าข้าวแลกเงินตราต่างประเทศจากสถาบันการเงินไนจีเรีย และยังห้ามนำเข้าข้าวผ่านชายแดนทางบกอีกด้วย จึงคาดว่าการนำเข้าข้าวจากไนจีเรียจะชะลอตัวมากกว่าทุกปี
ยาง : ราคาสูง-คู่ค้าเพิ่มซื้อคู่แข่ง
ในปี 2560 คาดผลผลิตยางโลกจะมีประมาณ 13.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5.79% เนื่องจากประเทศผู้ผลิตต่างๆ เช่น เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่ขยายพื้นที่ปลูกได้ทยอยเปิดกรีดยางเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ยางของโลกคาดจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของจีนและอินเดียยังขยายตัว ส่วนการส่งออกยางในตลาดโลกจะลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องจากคาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัวโดยเฉพาะยุโรป ส่วนจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลกจะมีการใช้ผลผลิตยางในประเทศทดแทนการนำเข้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ผลผลิตยางพาราโลกปรับตัวสูงขึ้น ราคายางพาราของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลให้มีการแข่งขันด้านราคา และอาจทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อสินค้าจากประเทศคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนามมากขึ้น รวมทั้งราคายางสังเคราะห์ต่ำกว่าราคายางธรรมชาติ ทำให้ผู้ใช้หันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางและถุงยางอนามัย เป็นต้น
มัน : ส่งออกเพิ่มแต่เสี่ยงอื้อ
ปี 2560 คาดพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังของไทยจะมีประมาณ 8.64 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 31.19 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3.61 ตัน เทียบกับปี 2559 พื้นที่เก็บเกี่ยวลดลง 3.16% เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่นอ้อยโรงงาน เป็นต้น แต่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 5.04% เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ดี จะส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในปีนี้คาดจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการในรูปของมันเส้นและแป้งมันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศจีนผู้นำเข้าหลักจากไทย
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยง อาทิ หากประเทศจีนมีมาตรการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต๊อกของรัฐบาล หรือลดการนำเข้ามันเส้นจากไทย รวมถึงผลผลิตของเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา เวียดนามและลาว มีปริมาณเพิ่มขึ้น หรือราคาพืชทดแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวลดลง จะส่งผลกระทบต่อราคามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ของไทยได้
ไก่ : แนวโน้มดีเตือนระวังกีดกัน
ในสินค้าไก่เนื้อ คาดผลผลิตเนื้อไก่ของโลกในปี 2560 จะมีปริมาณ 90.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 89.55 ล้านตันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวตามความต้องการของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตที่สำคัญทั้งสหรัฐอเมริกา บราซิล สหภาพยุโรป(อียู) และอินเดีย ขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตไก่เนื้อของจีนคาดจะลดลง จากยังประสบปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก ทั้งนี้ในปี 2560 คาดการณ์ส่งออกสินค้าไก่ของไทยจะมีปริมาณรวม 7.1 แสนตัน มูลค่าราว 9.3 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มทั้งปริมาณและมูลค่า สอดรับกับปริมาณความต้องการบริโภคของตลาดญี่ปุ่น และอียู ที่เป็นตลาดหลัก นอกจากนี้เกาหลีใต้อนุญาตให้ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปได้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 หลังจากที่เคยระงับการส่งออกตั้งแต่ปี 2547 (ขณะนั้นไทยมีการระบาดไข้หวัดนก) เป็นโอกาสให้ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังคือจากสถานการณ์ไข้หวัดนกในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่เนื้อที่สำคัญ หากยังคงระบาดเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ไทยขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตไก่ได้ในอนาคต นอกจากนี้ประเทศต่างๆ มีมาตรการกีดกันค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรฐานแรงงาน และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อนาคตอาจจะนำประเด็นเหล่านี้มากีดกัน หากไทยไม่ได้มีการเตรียมการป้องกันจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้
กุ้ง : สดใสแต่ต้องการของถูก
ในสินค้ากุ้ง คาดผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงของโลกในปีนี้จะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2559 จากประเทศผู้เลี้ยงหลัก เช่น อินเดีย จีน เวียดนาม ยังคงประสบปัญหาการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศในแถบอเมริกากลาง-ใต้ มีผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นจากไม่ประสบปัญหาด้านโรค ขณะที่ไทยมีการปรับตัวและบริหารจัดการการเลี้ยงได้ดีขึ้น คาดผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกยังมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้ว่ามีความต้องการบริโภคกุ้งจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีราคาไม่สูงมากนัก ดังนั้นการขยายตัวของการส่งออกคงไม่มาก
ขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงกุ้งไทย ยังต้องแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยูฟิชชิ่ง) รวมทั้งตลาดสหรัฐอเมริกานายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ได้ส่งสัญญาณด้านนโยบายอาจออกมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทยได้
source: thansettakij.com/2017/01/04/122649