data-ad-format="autorelaxed">
ทั้งการผลิตตามออเดอร์จากผู้ซื้อล่วงหน้าก่อนฤดูทำนาจะทำให้ชาวนาสามารถวางแผนและจัดการการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปลูกข้าวอินทรีย์ป้อนตลาดพรีเมี่ยมและสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชาวนา
ขายล่วงหน้าแก้ราคาตก
อดุลย์ โคลนพันธุ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอำนาจเจริญ ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสัจธรรม กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาข้าวล้นตลาดของเครือข่ายฯ ใช้วิธีการรับออเดอร์ล่วงหน้าจากผู้ประกอบการต่างๆ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์ประจำ ฯลฯ แล้วนำมาวางแผนการปลูกข้าวแต่ละประเภทตามที่ลูกค้าต้องการ
ตลาดข้าวในประเทศแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ตลาดล่างต้องการข้าวราคาถูกเน้นปริมาณ ตลาดกลางต้องการข้าวคุณภาพเหมาะสมตามราคา และตลาดพรีเมี่ยมที่ต้องการข้าวคุณภาพสูง ไม่เกี่ยงเรื่องราคา ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้อสูงสุด ผู้บริโภคระดับพรีเมี่ยมจึงเป็นที่มาของการผลิตและจำหน่ายข้าวอินทรีย์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป และมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ Organic Thailand เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปัจจุบันสมาชิกเครือข่ายฯ ประกอบด้วย 21 วิสาหกิจชุมชน สมาชิก 3,500 คน พื้นที่นาประมาณ 9,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 1,500 ตันต่อปี
“เคล็ดลับการอยู่รอด คือต้องรู้ว่าเราจะขายให้ใคร ใช้วิธีกระจายความเสี่ยงโดยการหาลูกค้าหลายๆ แห่ง ยกตัวอย่าง ปัจจุบันข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญส่งข้าวไปในแหล่งที่รับซื้อประจำทั้งในส่วนของที่สถานที่จัดประชุมอย่างไบเทคและอิมแพค เมืองทองธานี โรงแรม 6 แห่ง ร้านซิสเลอร์และตลาดส่งออก”
อดุลย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการจะซื้อข้าวอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เน้นความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือ เครือข่ายทางสังคมและการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งไม่เพียงทดแทนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แต่ยังเป็นการบริหารและพัฒนากลุ่ม เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างระบบรับรอง การรับสมาชิกใหม่ การขายและการตลาด
อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวอินทรีย์จะต้องใช้แรงงานมาก แต่ก็ใช้เงินลงทุนต่ำกว่าการปลูกโดยใช้สารเคมีครึ่งหนึ่ง ปัจจุบันทางเครือข่ายฯ ไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะยังคงเน้นความยั่งยืนและความเข้าใจมากกว่าผลกำไร
ข้าวทุกเม็ดมีราคา
นอกจากนี้ได้แนวคิดการจำหน่ายข้าวได้ทั้งข้าวสวยและข้าวหัก ด้วยการผสมข้าวสวยและข้าวหักตามอัตราส่วนที่ลูกค้าต้องการในราคาถูกลง เช่น กิโลกรัมละ 40 บาท ถ้าผสมข้าวหัก 20% จะจัดส่งในราคา 35 บาท เป็นต้น รวมถึงการปลูกพืชผักเสริมเพื่อเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงจากการทำนา อาทิ การปลูกแตงโมอินทรีย์ ในอนาคตทางเครือข่ายฯ มีแผนที่จะต่อยอดธุรกิจด้วยการสกัดน้ำมันรำข้าว ซึ่งมีโภชนาการสูงกว่าน้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลืองหรือสารสกัดจากเมล็ดองุ่น ฯลฯ หากสามารถผลิตได้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวอินทรีย์ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการเสวนาเรื่อง “การแก้ปัญหาเรื่องข้าวอย่างยั่งยืน : สหกรณ์และนวัตกรรมคือทางออก” ระบุว่า หลายภาคส่วนของไทย พยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาข้าวราคาตกต่ำ โดยการรับซื้อขายข้าวทางออนไลน์ การระดมทุน การเปิดจุดบริการรับซื้อข้าวจากชาวนา เป็นต้น วิธีการเหล่านี้แม้จะแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนไทย แต่ยังคงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ยั่งยืน
ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาโดยส่งเสริมการรวมกลุ่มอาจเป็นในรูปของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนหรือเป็นสมาชิกสหกรณ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองด้านราคา และเป็นการพึ่งพาตนเองในอนาคต
source: eureka.bangkokbiznews.com/detail/634610