data-ad-format="autorelaxed">
เป็นประจำทุกปีที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะได้วิเคราะห์สถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญในรอบปีที่ผ่านมา และทิศทางแนวโน้มในปีถัดไป “ฐานเศรษฐกิจ”ฉบับนี้จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ “จริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงสถานการณ์สินค้าเกษตรไทยในรอบปี 2559 และทิศทางแนวโน้มด้านการผลิต ราคา และการส่งออกปี 2560 ที่จะมาถึง ดังรายละเอียดถัดจากบรรทัดนี้
ปี 59 หดตัว-แล้งฉุด
“จริยา กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 พบว่า หดตัว 0.5% เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 1.8% และ 0.5 % ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.8% 2.5% และ 2.2% ตามลำดับ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัว คือ ปรากฏการณ์เอลนิโญและสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2559 โดยปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อยมากไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด
“โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่วนการทำประมงทะเลยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการปรับตัว และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงของผู้ประกอบการเรือประมง และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนยังคงชะลอตัว”
ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการปฏิรูปภาคการเกษตร เช่น โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (zoning by agri-map) เกษตรอินทรีย์ ธนาคารสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต
ในส่วนของการผลิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มมาตรฐานที่มีการวางแผนการผลิตและดูแลอย่างเป็นระบบ แม้ปัญหาอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์บ้าง แต่ปริมาณผลผลิตปศุสัตว์โดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากการจัดการปัญหาโรคกุ้งตายด่วน(EMS)ที่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ผลผลิตลด-ดันราคาอัพ
สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญในปี 2559 ภาพรวมลดลง อาทิ ข้าวทุกชนิด ในปี 2559 มีผลผลิต 29.09 ล้านตัน ลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 29.86 ล้านตัน, มันสำปะหลัง มีผลผลิตรวม 30.71 ล้านตัน ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 31.47 ล้านตัน,อ้อยโรงงาน มีผลผลิตรวม 97.34 ล้านตัน ลดลง 10.5% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 108.76 ล้านตัน, ยางพารา มีผลผลิตรวม 4.38 ล้านตัน ลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 4.42 ล้านตัน, ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตรวม 11.7 ล้านตัน ลดลงร้อย 7.2% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 12.05 ล้านตัน
ส่วนผลไม้ ได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุดและเงาะ มีผลผลิตรวม 1.72 ล้านตัน ลดลง 13.4 % เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 1.99 ล้านตัน ด้านราคาพืชที่สำคัญในปี 2559 อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
ด้านสาขาปศุสัตว์ ภาพรวมขยายตัว 2.8% หากจำแนกเป็นรายชนิด อาทิ ผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น 4.4% 6.6% 8.7% 2.2% และ 2.5 % ตามลำดับ เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบมาตรฐานฟาร์มที่ดี และราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี สาขาประมง ขยายตัว 2.5 % โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรคมากขึ้น
ขณะที่สาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 0.5% เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงจากปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าเกษตรกรจะสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้เพิ่มขึ้น แต่การจ้างบริการทางการเกษตรในภาพรวมยังคงลดลง ส่วนสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2% จากผลผลิตไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากผลผลิตดังกล่าวจึงส่งผลทำให้รายได้เกษตรกร เฉลี่ยเดือน มกราคม-ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น
จีดีพีเกษตร ปี 60 ส่อฟื้น
“จริยา” กล่าวอีกว่า สศก.ได้มีการพยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีภาคเกษตร) ปี 2560 คาดจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.4-3.4 % โดย สาขาพืชขยายตัว 2.6-3.6% สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.1-2.1% สาขาประมง ขยายตัว 3.0-4.0 % สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 1.5-2.5% และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2-3.2 % ซึ่งในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกษตรทำการผลิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการบริการจัดการแบบธุรกิจเกษตร พัฒนาการเกษตรที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี องค์ความรู้แบบองค์รวม รวมถึงสนับสนุนกระบวนการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคเกษตรในปี 2560 ขยายตัว ช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“สภาพอากาศและปริมาณน้ำจะเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากกว่าปี 2559 เนื่องจากในช่วงปี 2559 ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล ทำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักเพิ่มขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชที่สำคัญ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีทิศทางดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย”
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2560 ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังประเทศจีนลดลง
source: thansettakij.com/2016/12/21/120592