data-ad-format="autorelaxed">
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ได้รายงาน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน หลังจากที่ได้หารือกับผู้ค้าและผู้ผลิต เอทานอลเกี่ยวกับความพร้อมที่จะนำข้าวเสื่อมคุณภาพที่ขณะนี้มีอยู่ในสต๊อกรัฐประมาณ 5 ล้านตัน มาผลิตเอทานอล โดยมีโรงงานที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการผลิตรวม 11 ราย ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะได้นำข้อมูลไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ทั้งนี้ โรงงานเอทานอลที่สามารถนำข้าวเสื่อมคุณภาพไปผลิตเอทานอลได้ เป็นโรงเอทานอลจากมันสำปะหลังประมาณ 7 ราย และโรงงานโมลาสที่สามารถปรับมาใช้วัตถุดิบอื่นได้ (ไฮบริด) อีก 4 แห่ง และหากเป็นโรงงานที่อยู่ใกล้โกดังข้าวก็จะเหมาะสุดเพราะจะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งไม่สูงมากนัก
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามปริมาณ เอทานอลร่วมกับผู้ผลิตและผู้ค้าเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลน หลังจากที่ผ่านมาเอทานอลมีปัญหาภาวะตึงตัว โดยคาดการณ์ว่าในเดือน ธ.ค.ภาพรวมการผลิตเอทานอลอยู่ระดับ 4 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ระดับ 4.2 ล้านลิตร/วัน จึงสั่งให้ผู้ผลิตและผู้ค้านำเอาสำรองที่พร้อมใช้ออกมาใช้ก่อน ทำให้ปริมาณ เอทานอลเริ่มคลายปัญหาตึงตัว โดยภายในสัปดาห์หน้าจะสรุปอีกครั้งว่าจำเป็นต้องนำสำรองเอทานอลตามกฎหมาย 1% ประมาณ 12 ล้านลิตรมาใช้หรือไม่
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เดือน ธ.ค.มีการใช้เอทานอลมาก เพราะเป็นฤดูท่องเที่ยว ทำให้การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอล 21 รายมีสำรองที่พร้อมใช้ 25 ล้านลิตร ขณะเดียวกันโรงงานที่ผลิตจากโมลาสก็คาดว่าจะเริ่มทยอยผลิตได้ในสัปดาห์หน้าเพิ่มขึ้นเพราะโรงงานน้ำตาลเริ่มเปิดหีบอ้อยแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาการตึงตัวของเอทานอลมาจากปัจจัยหลัก คือ โรงงานเอทานอลหยุดพร้อมกัน 5-6 แห่ง ทำให้เอทานอลหายจากระบบไปเกือบ 1 ล้านลิตร/วัน ต่อมาโรงงานได้ทยอยกลับมาผลิตแต่ยังไม่ครบ ขณะนี้ยังขาดอีก 3 โรง ได้แก่ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น 2 แห่ง และจีเอส พาวเวอร์ 1 แห่ง ขณะที่ผู้ค้าน้ำมัน ได้แก่ เอสโซ่ เชฟรอน (คาลเท็กซ์) และ ปตท.ได้แจ้งขอนำสำรองตามกฎหมายมาใช้ เพราะผู้ผลิตเอทานอลไม่สามารถส่งมอบได้ตามสัญญา โดยจะขอติดตามสถานการณ์ก่อน
นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง กล่าวว่า โรงงานจากมันสำปะหลังสามารถนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเอทานอลได้ทันที แต่อยู่ที่เปอร์เซ็นต์แป้งเป็นสำคัญ เพราะปัจจุบันราคามันสดเฉลี่ย 2 บาท/กิโลกรัม (กก.) มันเส้น 5 บาท/กก. เมื่อเทียบเปอร์เซ็นต์แป้งมันสดจะอยู่ที่ 25% และมันเส้นอยู่ที่ 65% ดังนั้นหากข้าวที่เสื่อมคุณภาพมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำกว่า 20% ก็คงจะไม่สามารถนำมาผลิตได้ ส่วนปัญหาเอทานอลตึงตัวมั่นใจว่าจะคลี่คลาย เพราะขณะนี้สามารถดำเนินการหีบอ้อยได้แล้ว ทำให้โมลาสที่เป็นวัตถุดิบการผลิตทยอยออกมา
source: posttoday.com/biz/gov/470363