data-ad-format="autorelaxed">
เปิดตัว “ธันยนันท์” นายกฯ “หยง” คนใหม่ โชว์วิสัยทัศน์จัดระเบียบคนในวงการ กระทุ้ง ก.พาณิชย์ออกระเบียบ บีบหยงทุกรายต้องเป็นสมาชิกสมาคม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกันเสียเปรียบผู้ส่งออกเกเร อีกด้านป้องโรงส-ี ผู้ส่งออกผูกขาดฮั้วราคารับซื้อข่าวจากเกษตรกรในราคาต่ำชี้อนาคตหากไร้หยงอุตฯข้าวไทยจะตกอยู่ในแดนสนธยา
นางสาวธันยนันท์ อริยขจรนนท์ นายกสมาคมค้าข้าวไทย(หยง)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้สถานการณ์ค้าของไทยได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยมีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งการสั่งซื้อข้าวจากผู้ส่งออกข้าวของไทย และการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศขยับขึ้นตามชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคาดีขึ้น
อย่างไรก็ดีในส่วนของหยง หรือนายหน้าค้าข้าว ซึ่งมีหน้าที่เป็นคนกลางซื้อขาย และรวบรวมข้าวจากโรงสีให้กับผู้ส่งออกรวมถึงให้กับพ่อค้าขายส่งข้าวในประเทศ ณ ปัจจุบันหยงได้ถูกลดบทบาทลง โดยถูกลดบทบาทลงมากที่สุดในช่วงโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลชุดก่อนหน้า เพราะข้าวส่วนใหญ่อยู่ในสต๊อกของรัฐบาลและเป็นผู้ค้าข้าวเอง
“บริษัทหยงมี 2 แบบคือ 1. หยงที่อยู่ในเครือและมีผู้ส่งออกถือหุ้น ถือเป็นหยงมีแบ็กโดยได้โอกาสในการขายก่อนและ 2. คือ หยงอิสระ หรือหยงทั่วไปที่ไม่มีแบ็ก แต่มีสายสัมพันธ์กับโรงสีที่รู้จักกันมานานแล้วตั้งบริษัทขึ้นมาเป็นตัวกลางในการซื้อขายให้กับผู้ส่งออก โดยราคาซื้อขายข้าวในส่วนหยงที่ไม่มีแบ็กจะเป็นที่เปิดเผย เพราะซื้อขายบนโต๊ะหยงก็จะบอกผ่านไปยังโรงสีว่าราคาข้าวที่ผู้ส่งออกต้องการราคาเท่านี้มีหรือไม่ซึ่งทางโรงสีก็จะไปรับซื้อข้าวจากชาวนาอีกทอดหนึ่ง ส่วนหยงที่มีแบ็กทั้งราคาและปริมาณสั่งซื้อบางครั้งเขาไม่เปิดเผยเพราะอยู่ในเครือผู้ส่งออก”
อย่างไรก็ดีทางสมาคมมีหน้าที่รายงานราคาซื้อขายข้าวทีผู้ส่งออกเสนอราคาซื้อข้าวจากโรงสีต่อกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน ซึ่งหยงถือว่ามีบทบาทสำคัญเพราะหากไม่มีหยงรายงานราคาซื้อขายแต่มีเฉพาะโรงสีกับผู้ส่งออก ผู้ส่งออกอาจกดราคาซื้อและนำไปขายทำกำไรได้มากโดยที่โรงสีรู้ข้อมูลไม่เท่าทัน หากโรงสีถูกผู้ส่งออกกดราคา ก็จะไปกดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรอีกต่อหนึ่ง และหากไม่มีหยงผู้ส่งออกอาจฮั้วราคากับโรงสีทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ ทำให้อุตสาหกรรมข้าวเป็นแดนสนธยาได้
“ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวได้ 9.5 ล้านตัน ในจำนวนนี้จะผ่านหยงเป็นนายหน้าซื้อขายและรวบรวมข้าวสัดส่วนประมาณ 60% และในจำนวนนี้หยงที่เป็นเครือของผู้ส่งออกรายใหญ่ซึ่งมีอยู่กว่า 10 บริษัทจะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 50% และปัจจุบันหยงในส่วนนี้กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (หยงจะได้รับค่าธรรมเนียมการให้บริการ 0.75-1%ของมูลค่าการสั่งซื้อ) และส่วนแบ่งตลาดอีก 50% เป็นของหยงอิสระ ขณะที่สัดส่วนอีก 40% ของการซื้อขายจะเป็นการเจรจาซื้อขายโดยตรงระหว่างโรงสีกับผู้ส่งออก”
ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกอยู่ 48บริษัทจากอดีตเคยมีมากกว่า 60 บริษัทแต่มีบางรายลาออก บางรายเลิกกิจการเพราะไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อธุรกิจขณะที่มีหยงรวมอีก 20-30 บริษัทไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมเพราะไม่มีกฎหมายบังคับ ซึ่งทางสมาคมพยายามเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จัดระเบียบโดยบังคับให้หยงทุกบริษัทต้องเป็นสมาชิกสมาคม เพื่อเกิดความสามัคคีของคนในธุรกิจ มีการกำหนดทิศทาง และกฎกติกาในการทำธุรกิจที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน สร้างอำนาจต่อรอง และช่วยเหลือสมาชิกในกรณีเกิดปัญหาพิพาท หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น กรณีผู้ส่งออกที่ไม่ยอมรับมอบข้าวจากหยง จ่ายเงินช้า ทำให้หยงต้องแบกรับภาระด้านการเงินที่ทำไว้กับโรงสี จะหาทางออกร่วมกันอย่างไร เป็นต้น
source: thansettakij.com/2016/12/12/119268