data-ad-format="autorelaxed">
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ให้กรมชลประทานเร่งปรับแผนงานโครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หลังที่ผ่านมาได้รับฟังความเห็นจากนักวิชาการวิจารณ์แผนดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นแผนเร่งด่วนดำเนินการในปี 2560 โดยให้นำยุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติ (12 ปี) ที่เดิมเป็นแผนระยะกลางและระยะยาวนำมาปรับเป็นแผนระยะเร่งด่วนตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นห่วงเรื่องสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะอุทกภัย
ทั้งนี้ มีรายงานว่ากรมชลฯ ได้วางป้องกันอุทกภัยไว้ ประกอบด้วย พื้นที่ฝั่งเจ้าพระยาตะวันออกตอนล่าง โดยจะนำพื้นที่ 8 ทุ่งลุ่มต่ำ ได้แก่ ลุ่มบางบาล ป่าโมก-ผักไห่ บางยี่หน ดอนพุด มหาราช ทุ่งภูเขาทอง-บางปะหัน ไชโย-บ้านแพรก และพื้นที่อ่างทองฝั่งตะวันตก รวมกว่า 5.5 แสนไร่ เป็นทุ่งแก้มลิง สำหรับตัดยอดน้ำในช่วงน้ำหลาก คาดว่าจะรองรับน้ำได้ประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
นอกจากนี้ จะดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการระบายน้ำของคลองชุดระพีพัฒน์ทั้งหมด เพื่อตัดยอดน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท และระบายน้ำในแม่น้ำป่าสักไปออกทะเลที่บางประกง การขยายศักยภาพคลองชัยนาทป่าสัก จาก 200 ลบ.ม./วินาที เป็น 800 ลบ.ม./วินาที และขุดคลองสายใหม่ป่าสัก-ชายทะเล เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6
สำหรับโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ระบายน้ำ 1,200 ลบ.ม./วินาที โดยระยะแรกขุดคลองสายใหม่ 22 กิโลเมตร ตามที่ไจก้าศึกษา รวมทั้งโครงการก่อสร้างทางระบายน้ำ (วอเตอร์เวย์) ขนาด 500 ลบ.ม./วินาที ควบคู่กับถนนทางหลวงวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม ขณะที่โครงการฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีน
นายสุวัฒนา จิตตลดากร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อาจไม่จำเป็นต้องทำทุกโครงการที่กรมชลฯ เสนอ โดยเห็นว่าโครงการเร่งด่วน คือ โครงการปรับปรุงศักยภาพคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงทะเลได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำขนานกับถนนวงแหวนรอบ 3 คาดว่าจะระบายน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,000 ลบ.ม./วินาที
source: posttoday.com/biz/gov/467557