data-ad-format="autorelaxed">
ที่ศูนย์ถ่ายทอดความรู้เรื่องชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้มีการจัดทำขึ้นมาหลายปีแล้ว ซึ่งตลอดมาได้มีประชาชนทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้เดินทางเข้าศึกษาเรียนรู้แล้วนำกลับไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 6,000 คนต่อปี
ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 25 ไร่ ภายในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่มีทั้งแปลงทดลองการทำการเพาะปลูกพืชผลและพืชผักนานาชนิด ตลอดถึงพืชประดับมากมาย ดำเนินการในรูปแบบแปลงสาธิตตั้งแต่การเพาะปลูกเพื่อการบริโภค และเชิงพาณิชย์ ตลอดทั้งการเพาะปลูกเพื่อขยายพันธุ์ รวมถึงการแปรรูปเพื่อให้ประชาชนที่สนใจและเดินทางเข้ามาศึกษาเรียนรู้นำไปต่อยอดพัฒนาอาชีพและชุมชนของตนเองได้ โดยประชาชนสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ทุกวัน และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
ศูนย์เรียนรู้ชีววิถี กฟผ. แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการทำการผลิตทางการเกษตรขนาดใหญ่ในพื้นที่มีแปลงสาธิตการปลูกพันธุ์ไม้หลายหลากพันธุ์รวมไปถึงพันธุ์ไม้หายาก เช่น แปลงสาธิตปลูกมะนาวนอกฤดู ปลูกผักตามฤดูกาล มีนาข้าว การเพาะเห็ด การเลี้ยงเป็ด ไก่ ไปจนถึงวัวซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย คือขาวลำพูน สายพันธ์ุพระโคทรงงานเพื่อการเพาะปลูก
ซึ่งเป็นโคที่เขาและกีบเท้า มีสีน้ำตาลส้ม ขอบตาและเนื้อจมูก มีสีชมพูส้ม ขนพู่หางสีขาวไม่มีเหนียงสะดือ ขนาดเหนียงปานกลางไม่พับย่นมาก เหมือนกับโคบราห์มัน น้ำหนักแรกเกิด 18 กก. น้ำหนักหย่านมเมื่ออายุ 200 วันเฉลี่ย 122 กก. น้ำหนักโตเต็มที่เพศผู้ 350-450 กก. เพศเมีย 300-350 กก. อายุเมื่อให้ลูกตัวแรก 2.5 ปี ระยะการอุ้มท้อง 290-295 วัน ช่วงห่างการให้ลูก 460 วัน
โคขาวลำพูนเป็นโคพันธุ์พื้นเมืองทางภาคเหนือพันธุ์หนึ่ง ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของโคพื้นเมืองในสมัยพระนางจามเทวี เป็นสัตว์คู่บารมีในสมัยนั้น และจากการออกสำรวจของ เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ เมื่อก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับข้อมูลของโคขาวลำพูน โดยออกเยี่ยมเยียนเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ข้อมูลในลักษณะเดียวกันว่า โคขาวลำพูนได้พบเห็นมาช้านานแล้วไม่ต่ำกว่า 70 -80 ปี และจะพบเห็นมากที่สุดในเขตพื้นที่ของจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เท่านั้น
ในอดีตชาวเมืองลำพูนจะนิยม ใช้โคขาวลำพูนลากเกวียน เพราะจะทำให้มีสง่า ราศีดี เนื่องจาก มีลักษณะใหญ่และมี สีขาวปลอดทั้งตัว ใครที่มีโคขาวลำพูนเทียมเกวียนในสมัยนั้นจะเปรียบได้กับการมีรถเบนซ์ไว้ขับในสมัยปัจจุบัน และเนื่องจากมีต้นกำเนิดที่จังหวัดลำพูน จึงเรียกโคพันธุ์นี้ว่า โคขาวลำพูน และจากคุณสมบัติที่มีลักษณะเด่นและเป็นลักษณะเฉพาะพันธุ์ โคขาวลำพูนจึงได้รับการคัดเลือกเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจวบจนทุกวันนี้ และภายในศูนย์แห่งนี้ก็มีการนำมาเลี้ยงเพื่อการสาธิตให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงในพื้นที่ของตนเองด้วย
และควบคู่กันนี้ภายในศูนย์ฯ ยังมีการสาธิตในเรื่องการใช้พลังงานทดแทนสำหรับการทำการเพาะปลูก ตลอดถึงการทำน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้บำรุงดินและกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับการทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง มีการสาธิตการใช้วัสดุจากธรรมชาติและวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้มาทำปุ๋ยหมักโดย ใช้จุลินทรีย์ อีเอ็ม ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึง การสนับสนุนในเรื่องหัวเชื้อแก่ผู้ที่สนใจ จน เกิดเป็นโครงการธนาคารจุลินทรีย์ในปัจจุบัน ที่มีหลายหมู่บ้านในพื้นที่นำไปต่อยอด เช่น บ้านหัวฝายและบ้านใหม่นาแขม จ.ลำปาง จนเป็นชุมชนต้นแบบของการเพาะปลูกแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกได้ ลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางการผลิตอีกทาง หนึ่งที่สามารถจับต้องได้และมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม
ศูนย์การเรียนรู้ชีววิถี กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง ปัจจุบันเป็นแหล่งรวบรวมความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของพื้นที่ภาคเหนือ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบอย่างน่าสนใจไม่น้อยสำหรับเกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไป
source: dailynews.co.th/agriculture/538217