data-ad-format="autorelaxed">
ราคาข้าวเปลือกภายในประเทศขยับขึ้น 800-1,000 บาท/ตัน หลัง ธ.ก.ส.ขยับออกรับจำนำยุ้งฉาง ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปีออกมาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้านผู้ส่งออกชี้ปีนี้ไทย "วืด" แชมป์ส่งออกข้าวแน่ หลังอินเดียแซงโค้งส่งออกมากกว่า 10 ล้านตัน พร้อมเตือนปี 2560 มีสิทธิ์เกิดสงครามราคาข้าว
นายวิชัย ศรีนวกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้ผ่านช่วงสัปดาห์ที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลินาปี 2559/2560 มาเป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้ว ปรากฏปริมาณข้าวเปลือกกลับลดลงไปจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 40% ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ (แห้ง) ปรับขึ้นตันละ 1,000 บาท มาอยู่ที่ราคาตันละ 11,500 บาท จากเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่มีราคาอยู่เพียงตันละ 10,500 บาทเท่านั้น
ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิเกี่ยวสด ราคาก็ได้ปรับขึ้นมาอีกตันละ 800 บาท หรือจากเดิมที่ราคา 7,700 บาท ขยับขึ้นมาเป็นตันละ 8,500 บาท ในขณะที่ผู้ส่งออกข้าวเองก็ได้ปรับขึ้นราคารับซื้อข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น โดยอยู่ระหว่างตันละ 19,100-20,000 บาท หรือจากวันที่ 1 พฤศจิกายนที่เคยซื้ออยู่ระหว่างตันละ 16,000-17,500 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกเหนียวที่เพิ่งเกี่ยวไปได้ประมาณ 10% มีราคาตันละ 11,500-12,000 บาท และข้าวสารเหนียวตันละ 21,000-22,000 บาท
3 สาเหตุ หอมมะลิราคาดีขึ้น
สำหรับสาเหตุที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้น เป็นเพราะ 1) การดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งผลให้ข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งออกสู่ตลาดน้อยลง 2) รถเกี่ยวข้าวมีไม่เพียงพอกับปริมาณผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กันทั่วประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนรถเกี่ยว ยกตัวอย่าง บางอำเภอในช่วงนี้เคยเกี่ยวได้วันละ 5,000 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2,500-3,000 ไร่ ทำให้ปริมาณข้าวเปลือกหอมมะลิออกสู่ตลาดช้าลงไปด้วย
3) ตัวเลขคาดการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 10 ล้านตันข้าว แท้จริงแล้วอาจจะมีไม่ถึงที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเมื่อผ่านมาถึงสัปดาห์ที่สามของเดือนนี้ ซึ่งปกติจะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวต้องออกสู่ตลาดสูงสุด แต่ปริมาณข้าวกลับออกมาไม่มากนัก หากสถานการณ์ผลผลิตยังดำเนินอยู่ในลักษณะนี้ไปจนกระทั่งถึงกลางเดือนธันวาคม 2559 น่าจะสามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า การคาดการณ์ผลผลิตข้าวนาปี 2559/2560 เกิดความผิดพลาด ดังนั้นหากสถานการณ์ "ข้าวเปลือกตึงตัว" ลากยาวไปอีก 2 เดือน โรงสีจะไม่มีข้าวเพียงพอสำหรับการผลิตส่งมอบให้กับผู้ส่งออก เพราะปริมาณข้าวในสต๊อกของโรงสีโดยรวมได้ลดลงต่ำกว่าครึ่งหนึ่งไปแล้ว
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า ราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้า 5% พื้นที่ภาคกลาง ขณะนี้ปรับขึ้นจากราคาตันละ 7,200 บาท ขึ้นไปเป็น 7,500 บาท ส่วนราคารับซื้อข้าวสาร 5% ปรับขึ้นจากตันละ 11,000 บาท เป็น 11,400-11,800 บาท ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า ราคาข้าวขยับขึ้นเป็นเพราะผู้ส่งออกเริ่มมีคำสั่งซื้อข้าวใหม่เข้ามาแล้วหรือไม่
ลุ้นส่งออกข้าว 9.5 ล้านตัน
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกปรับขึ้นตันละ 1,000-1,500 บาท ซึ่งเป็นผลจากมาตรการของรัฐและฝนเริ่มหยุดตกทำให้ข้าวแห้ง แต่ระดับราคาข้าวสารที่ผู้ส่งออกรับซื้อปรับขึ้นเป็นตันละ 20,000 บาท หรือสูงขึ้น 3,000-4,000 บาทจากก่อนหน้านี้ เนื่องจากผู้ส่งออกต้องรีบหาข้าวส่งมอบตามที่รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ "ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ออร์เดอร์ใหม่" ประกอบกับข้าวเปลือกในตลาดตึงตัวหายาก และภาวะข้าวมีความแห้งมาก ทำให้สัดส่วนการสีได้ข้าวสารลดลง เช่น เดิมข้าวเปลือก 1 ตัน เป็นข้าวสาร 480 กิโลกรัม แต่ตอนนี้เหลือ 420 กิโลกรัม เพราะข้าวป่น ผู้ส่งออกต้องแบกรับต้นทุนที่ไปขายล่วงหน้าไว้เป็นราคาที่เพิ่มขึ้น 50-60 เหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้ส่งออกข้าวหลายรายขาดทุนจากราคาล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขส่งออกข้าวตุลาคม 2559 มีปริมาณ 933,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีปริมาณ 792,163 ตัน ส่งผลให้ยอดการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม 2559) มีปริมาณ 8,373,000 ตัน และหากจะให้การส่งออกข้าวปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายคือ 9.5 ล้านตัน นั่นหมายความว่าอีก 2 เดือนสุดท้ายของปี จะต้องส่งออกข้าวให้ได้ 1,127,000 ตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 563,500 ตันโดยยอดส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็นผลมาจากการส่งออกข้าวขาว 416,000 ตัน กับข้าวนึ่งกลับมาเพิ่มขึ้น 356,000 ตัน ส่วนข้าวหอมมะลิ มีปริมาณ 158,000 ตัน
"สมาคมคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย 9.5 ล้านตัน เป็นรองจากอินเดีย ที่คาดว่าส่งออก 10.5 ล้านตัน ส่วนแนวโน้มการส่งออกข้าวปี 2560 ใกล้เคียงกับปีนี้คือ 9.5 ล้านตัน โดยอินเดียจะยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งต่อไปอีก จากปริมาณผลผลิตที่สูงถึง 106.5 ล้านตัน แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ อาจจะเกิด Price War ตามมา เนื่องจากตัวเลข USDA ออกมาว่า มีสต๊อกข้าวโลกถึง 120.7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 4.4% จากปีนี้ที่ 115.6 ล้านตัน นับเป็นตัวเลขสต๊อกที่สูงสุดในรอบ 15 ปี นับจากปี 2001 ที่เคยมีปริมาณ 146.7 ล้านตัน" ร.ต.ท.เจริญกล่าว
source: prachachat.net/news_detail.php?newsid=1479992604