data-ad-format="autorelaxed">
ถือว่าผ่านงานมาครบครันทั้งในและต่างต่างประเทศ สำหรับ “วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์” ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ที่ตำแหน่งมาพร้อมกับภาระอันหนักอึ้ง โดยเฉพาะงานเร่งด่วนทั้งการยกระดับราคาสินค้าเกษตร การดูแลราคาสินค้าลดค่าครองชีพประชาชน การเร่งรัดการส่งออกที่ยังติดลบต่อเนื่องมา 3 ปี รวมไปการผลักดันพาณิชย์ 4.0 ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ”ฉบับนี้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในทุกเรื่องราวที่กล่าวมาถึงความคืบหน้าและทิศทางในปี 2560
“วิบูลย์ลักษณ์” กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์กระทรวงระยะ20ปี เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยในระยะที่ 1 คือ 5 ปีแรกของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์จะเน้นเรื่องการปฏิรูปการค้า ปรับกฎหมาย และวางระบบการค้าเพื่อเป็นรากฐานสู่อนาคต คือ พาณิชย์ 4.0 ซึ่งแผนงานในปีหน้าจะเป็นการต่อยอดผลการดำเนินงานในภารกิจหลักและพัฒนาให้เข้ากับการเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยงานเร่งด่วนยังคงเป็นการยกระดับราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดสัตว์เลี้ยง ปาล์มน้ำมัน ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
เน้นหนักดูแลสินค้าข้าว
สำหรับในเรื่องข้าวเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญมาก เนื่องจากสถานการณ์ข้าวโลกในปัจจุบันส่งผลต่อข้าวไทยทั้งในแง่ของปริมาณและราคา โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ผลผลิตปีการผลิต 2559/60 เริ่มออกมามาก และราคาตกต่ำเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงไปยังชาวนา ดังนั้นรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี จึงได้มีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียวเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างมาก เพราะนอกจากรัฐบาลจะสนับสนุนสินเชื่อ เช่นข้าวเปลือกหอมมะลิที่ 9,500 บาทต่อตันแล้ว ยังให้ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวตันละ 2,000 บาท และค่าฝากเก็บข้าวในยุ้งฉางอีกตันละ 1,500 บาท ส่วนเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางและไม่เข้าร่วมโครงการให้ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวตันละ 2,000 บาท
“โครงการชะลอการขายข้าวเปลือก หรือจำนำยุ้งฉาง คาดจะมีเกษตรกรนำข้าวเปลือกหอมมะลิมาเข้าโครงการมากกว่า 1 ล้านตัน จากเป้าหมาย 2 ล้านตัน ส่วนข้าวเปลือกเจ้าคาดมีประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งหลังจากเริ่มดำเนินโครงการมาแล้ว พบว่าราคาข้าวเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากข้าวมีคุณภาพดีขึ้น ความชื้นต่ำลง และเกษตรไม่เร่งขาย จากเดิมที่ติดฝนข้าวมีความชื้นสูงและเก็บเกี่ยวพร้อมๆกัน โดยขณะนี้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 9,000-10,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ 7,000-8,000 บาท สำหรับข้าวความชื้น 15%”
อย่างไรก็ดีเวลานี้ราคาข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลกลดลง โดยผู้ส่งออกไปเสนอขายตามคุณภาพข้าวเฉลี่ยตั้งแต่ 500-700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนราคาข้าวหอมมะลิเวียดนามเฉลี่ยที่ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งถ้าเทียบคุณภาพข้าวยังไงผู้ซื้อก็ต้องซื้อข้าวจากไทย สำหรับที่มีข่าวพ่อค้ากดราคาข้าวทำให้เกษตรกร เดือดร้อน ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศส่งราคาการสั่งซื้อสินค้าของผู้ส่งออกมาให้ทุกสัปดาห์ ที่ผ่านมาผู้ส่งออกก็เสนอราคาใกล้เคียงกันตามชนิดและคุณภาพของข้าว แต่หากพบรายใดขายตัดราคามากก็จะเรียกมาคุย
ระบายข้าวแล้ว12ล้านตัน
สำหรับภาพรวมการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการระบายข้าวไปแล้ว 12 ล้านตัน มูลค่า 1.38 แสนล้านบาท(คงเหลือในสต๊อก ณ ปัจจุบัน 8.4 ล้านตัน) แบ่งเป็นการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลปริมาณรวม 8.6ล้านตัน มูลค่า 8.86 หมื่นล้าน ในจำนวนนี้เป็นการเปิดประมูลข้าวให้กับผู้ประกอบการ ปริมาณ 8.1 ล้านตัน มูลค่ารวม 8.37 หมื่นล้านบาท และการขายข้าวตามคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออก ปริมาณรวม 3.61 แสนตัน มูลค่ารวม 3,472 ล้านบาท ส่วนการระบายข้าวฤดูกาลผลิตใหม่มีปริมาณรวม 3.43 ล้านตันมูลค่า 5.01 หมื่นล้านบาท ส่วนภาพรวมการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(G TO G)ภายใต้รัฐบาล คสช.ถึงรัฐบาลปัจจุบัน( ณ 20 ต.ค. 59) มีปริมาณรวม 3.45 ล้านตันมูลค่ารวม 5.05 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อขายข้าวกับบริษัท COFCO Corporation จีน ซึ่งเป็นข้าวฤดูกาลใหม่ปริมาณรวม 1.9 ล้านตัน ,สัญญาซื้อขายข้าวกับ BULOG อินโดนีเซีย ปริมาณรวม 6.55 แสนตัน และสัญญาซื้อขายข้าวกับNFA ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 9 แสนตัน
“แนวโน้มราคาข้าวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จากผลผลิตข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลใหม่จะทยอยเข้าสู่ตลาดข้าว โดยในปีการผลิต 2559/60 ผลผลิตข้าวไทยและประเทศผู้ผลิตข้าวอื่นๆ เช่นเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน จะมีปริมาณมาก ในขณะที่ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ เช่น แอฟริกา ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินทำให้ตลาดการค้าข้าวโลกเกิดภาวะชะลอตัวมีเพียงคำสั่งซื้อข้าวในปริมาณไม่มากพอ คาดว่าปีนี้ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ 9.5 ล้านตัน ปีหน้าน่าจะส่งออกได้ 9 ล้านตัน”
ดูแลค่าครองชีพเชิงรุก
“วิบูลย์ลักษณ์” กล่าวถึง การดูแลค่าครองชีพของประชาชนว่า ทางกระทรวงมีการทำงานเชิงรุกโดยจะมีการประชุมติดตามราคาทุกเช้าและมีการลงพื้นที่ทุกสัปดาห์เพื่อให้ทราบถึงราคาจำหน่าย รวมไปถึงเชิญผู้ประกอบการหารือและกำกับดูแลไม่ให้มีการฉวยโอกาส ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีก 5-10 บาทต่อวันในปีหน้านั้นอาจมีผลกระทบต่อราคาสินค้าบ้างแต่ไม่มากนัก โดยเฉพาะในกลุ่มของบริการ และอาหารสำเร็จรูป ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าอาจใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคา เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์จะเฝ้าติดตาม และจับตาเป็นพิเศษ และยังได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเฝ้าติดตามโครงสร้างต้นทุนและราคาสินค้าที่เกิดจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำด้วย
ส่งออกปี 60ทิศทางบวก
ด้านการส่งออกในปี 2559 กระทรวงยังตั้งเป้าหมายขยายตัว 0-1% ส่วนการส่งออกในปีหน้ากระทรวงพาณิชย์จะเน้นการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้ามากขึ้น เพราสามารถเจรจาในประเด็นที่ไทยสนใจและเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเน้นภาคบริการเป็นหลัก ทั้งนี้ต้องการเห็นการแถลงตัวเลขส่งออกโดยมีตัวเลขมูลค่าของภาคบริการอยู่ในนั้นด้วย คาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโตซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายของไทย เช่นอาเซียน อินเดีย เป็นต้น และราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกไทยที่เกี่ยวกับน้ำมันมีมูลค่าสูงขึ้น รวมไปถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆที่เกิดขึ้นในปีนี้น่าจะส่งผลต่อการส่งออกและเป็นรูปธรรมในปีหน้า
source: farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=3072