data-ad-format="autorelaxed">
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่บ้านดอยปุยใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ในปี 2512 และเริ่มต้นโครงการหลวง เพื่อช่วยชาวเขาได้ปลูกพืชที่มีประโยชน์ทดแทนการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ช่วยรักษาป่าไม้และผืนดิน ทำให้มีอาชีพยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผ่านมาถึงปัจจุบัน เป้าหมายของโครงการหลวงยังคงมุ่งสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ควบคู่การให้ความรู้ในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพผลผลิตจากแปลงเกษตรกรสู่มาตรฐานสากล เน้นผลผลิตที่มีคุณภาพดี อร่อย เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย
โดยปี 2559 มีพื้นที่ส่งเสริมรวม 351.32 ไร่ จำนวน 210 แปลง และมีเกษตรกรเข้าร่วม 183,744 คนใน 42,742 ครัวเรือน หรือ 264 หมู่บ้าน
ปีนี้ "โครงการหลวง" ยังขยายศูนย์พัฒนาแห่งใหม่ "โครงการหลวงเลอตอ" ต.แม่ตื่น อ.แม่ละมาด จ.ตาก จากที่มี 38 แห่งในพื้นที่ดำเนินงาน 5 จังหวัดภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยา
ปัจจุบันมีผลผลิตหลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ สมุนไพร ดอกไม้ เห็ด พืชเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ พืชไร่อย่างถั่ว ข้าว ลินิน กัญชง กลุ่มปลาเทราต์ สเตอร์เจียน ปูขน คาเวียร์ และการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ
ขณะเดียวกันก็มีโครงการวิจัยต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2559-2560 ได้มีงานวิจัยใหม่ ๆ ออกมา อาทิ สตรอว์เบอรี่พันธุ์พระราชทาน 88 กีวีฟรุตสีทอง ข้าวโพดสีม่วง กุหลาบสายพันธุ์ 5 สายพันธุ์ ฯลฯ
"เมธัส กิจโอภาส" ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันมีการปลูกผักกว่า 200 รายการ ผลไม้ 40 รายการ ดอกไม้กว่า 300 รายการ และยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตได้มากที่สุด อาทิ ชา กาแฟ สบู่ สลัดกล่อง เป็นต้น นอกจากส่งเสริมเกษตรกรเพาะปลูกพืชเมืองหนาว โครงการหลวงยังรับซื้อผลผลิตและมองหาตลาดระบายผลผลิต
โดยปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้คืนให้เกษตรกรประมาณ700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละ 10% ด้วยปริมาณความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพของเกษตรกรที่ดีขึ้น ซึ่งได้ร่วมมือกับช่องทางค้าปลีกเพื่อช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก ตรงกับความต้องการของตลาดและบริหารความเสี่ยงของผลผลิตล้นตลาด
ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายหลัก ๆ ผ่านทางร้านโครงการหลวงที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ 11 สาขา ต่างจังหวัดในภาคเหนือและอีสานรวม 16 สาขา พร้อมทั้งกระจายผลผลิตเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงขยายตลาดต่างประเทศที่มีการส่งผักไปสิงคโปร์ และเมียนมา
"ร้านโครงการหลวงจำหน่ายผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูปเกษตร ทำอย่างพอเพียง ค่อย ๆขยายไป ไม่ได้แอ็กเกรสซีฟมาก"
ด้านช่องทางการขาย "เทสโก้ โลตัส" ที่มีการรับซื้อผักผลไม้จากโครงการหลวงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี "สลิลลา สีหพันธุ์" รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งผักผลไม้ที่รับซื้อมีกว่า 30 รายการ อาทิ เสาวรส อะโวคาโด เคปกูสเบอรี่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ฯลฯ และได้เปลี่ยนรูปแบบการขายจากเป็นแพ็กมาจำหน่ายในตู้เก็บความเย็น และเป็นกิโลในกระบะสำหรับผักบางชนิดที่มีความต้องการสูง เพื่อลูกค้าที่ต้องการซื้อในปริมาณมากมีความสะดวกยิ่งขึ้น ทำให้ยอดขายผักโครงการหลวงเพิ่มขึ้น 30-40%
"นักวิชาการจากโครงการหลวงยังให้คำปรึกษาเรื่องวางแผนเพาะปลูก จัดการฟาร์มให้เจ้าหน้าที่เทสโก้นำไปเผยแพร่ให้เกษตรกรรายอื่นๆเป็นการยกระดับมาตรฐานการเกษตรไทย"
"อัศวินเตชะเจริญวิกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปีนี้ได้รับซื้อผักพื้นบ้าน ผักท้องถิ่น ผักและผลไม้เมืองหนาวรวมกว่า 100 ชนิดตลอดปี โดยตั้งเป้าซื้อมากกว่าปีก่อน โดยสินค้าขายดีได้แก่ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี เสาวรส และฟักทองญี่ปุ่น
ด้าน "จอห์น ไฮเน็ค" ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจฮอตเชน บริษัท เดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไมเนอร์ฟู้ดใช้ผักสดจากโครงการหลวงร่วมกับแหล่งปลูกอื่น ๆ ในร้านอาหารในเครือกว่า 300 สาขา ส่วนใหญ่ใช้ในร้านซิซซ์เล่อร์กว่า 50 สาขา โดยจุดเริ่มต้นของความร่วมมือตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะโครงการหลวงเปิดโอกาสให้ไมเนอร์ฟู้ดเข้ามาร่วมวางแผนพัฒนาสินค้า เริ่มตั้งแต่ฟักทองญี่ปุ่น มะเขือเทศแฟนซี ฯลฯ ซึ่งผลิตผลเหล่านี้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มา วิธีการเพาะปลูกได้ชัดเจน สอดคล้องแนวทางของไมเนอร์ที่ต้องการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเกี่ยวกับคุณภาพ ความปลอดภัยของผัก
"คำสั่งซื้อปริมาณมากและสม่ำเสมอ ทำให้ชาวบ้านวางแผนเพิ่มปริมาณการปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง"
ทุกวันนี้โครงการหลวงไม่เพียงส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวเขาได้มีอาชีพยังดูแลด้านสาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อมของชุมชน รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการในการถ่ายทอดความรู้การปลูกผัก ผลไม้ เพิ่มผลผลิตข้าวให้เกษตรกรในลาว เมียนมา และการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชเขตหนาว และประมงภูเขาให้กับภูฏานอีกด้วย
source: prachachat.net/news_detail.php?newsid=1479108374