data-ad-format="autorelaxed">
ชาวนาแห่จำนำยุ้งฉาง ธ.ก.ส. หลังราคาข้าวเปลือกในประเทศดิ่งต่อเนื่อง เหตุผู้ส่งออก-โรงสีหมดกำลังซื้อ รัฐ-เอกชนแบกสต๊อกกว่า 10 ล้านตัน คาดผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มเป็น 25 ล้านตัน ผู้ซื้อข้าวหอมมะลิต่อรองราคาล่วงหน้าลดลงอีก 50 เหรียญ
แม้รัฐบาลจะประกาศโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 2559/2560 ด้วยการใช้กลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับจำนำยุ้งฉาง แบ่งเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ รับจำนำ 9,500 บาท/ตัน +2,000 บาท/ตัน (เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว/ปรับปรุงคุณภาพข้าว) +1,500 บาท/ตัน (เงินค่าขึ้นยุ้ง) รวม 13,000 บาท/ตัน, ข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้นไม่เกิน 15%) รับจำนำ 7,000 บาท/ตัน +2,000 บาท/ตัน +1,500 บาท/ตัน รวม 10,500 บาท/ตัน และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (ความชื้นไม่เกิน 15%) รับจำนำ 7,800 บาท/ตัน +2,000 บาท/ตัน +1,500 บาท/ตัน รวม 11,300 บาท/ตัน วงเงินประมาณ 38,040 ล้านบาท
แต่ราคาข้าวเปลือกตลาดภายในประเทศก็ยังไม่ขยับขึ้น และมีแนวโน้มที่ราคาจะตกลงไปจากปัจจุบันอีก ขณะที่ปริมาณรับจำนำยุ้งฉางของ ธ.ก.ส. มีเป้าการรับจำนำอยู่เพียง 3 ล้านตัน (ข้าวเปลือกหอมมะลิ 2 ล้านตัน-ข้าวเปลือกเจ้า/ปทุมธานี 1 ล้านตัน) คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตข้าวนาปี 2559/2560 ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 25 ล้านตัน ส่งผลให้ชาวนาไม่มีทางเลือกและพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มากเป็นประวัติการณ์
ราคาข้าวรูดตกต่อเนื่อง
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสีข้าวกล่าวว่าแม้รัฐบาลจะกำหนดมาตรการต่าง ๆ ออกมาดูแลราคาข้าวเปลือกนาปี 2559/2560 แต่สถานการณ์ราคาข้าวสารที่ผู้ส่งออกแจ้งซื้อข้าวสารจากโรงสีล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ได้ปรับลดลงอีกรอบ โดยข้าวขาว 5% เหลือตันละ 10,800 บาท หรือลดลงตันละ 200 บาท จากเดิมที่ราคาตันละ 11,000 บาท ขณะที่ราคาปลายข้าว-รำข้าวก็ลดลงตาม ส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% (ข้าวต้น) ห่างจากราคาปลายข้าวตันละ 30-40 บาท จากปกติต้องห่างกันตันละ 100-200 บาท "ผมว่าน่าเป็นห่วงมาก หากคำนวณราคากลับไปเป็นข้าวเปลือก (เกี่ยวสด) ขณะนี้จะอยู่ที่ตันละแค่ 4,600 บาทเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าว
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวของรัฐบาลในขณะนี้ไม่สามารถยกระดับราคาข้าวภายในประเทศได้ เนื่องจากทั้งโรงสีและผู้ส่งออก "ต่างก็ไม่มีกำลังซื้อ" เพราะยังมีภาระสต๊อกข้าวเก่าที่ค้างเหลือจากการผลิตในปี 2558/2559 อยู่ในมืออีกประมาณ 2 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ระบายออกไปไม่ได้ เนื่องจากภาวะตลาดข้าวสารเก่าค่อนข้างชะลอตัว โดยราคาข้าวเก่ากับราคาข้าวใหม่ห่างกันแค่ตันละ 1,750 บาท (ประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ/ตัน) จากปกติที่จะมีความห่างกันประมาณ 3,500 บาท (100 เหรียญ/ตัน)
"ตลาดข้าวเก่าหลักคือ ตลาดในประเทศ ซึ่งเดิมมีน้ำหนักประมาณ 50% หรือปีละ 9 ล้านตัน แต่ช่วงหลังคนนิยมบริโภคข้าวลดลงจึงเหลือเพียง 7-8 ล้านตัน ขณะที่ตลาดส่งออกที่นิยมข้าวเก่ามีแค่สิงคโปร์ มาเลเซียบางส่วน และตะวันออกกลางเท่านั้น" ร.ต.ท.เจริญกล่าว
ขณะที่ซัพพลายข้าวเปลือกใหม่ออกสู่ตลาดพอดี ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจผลผลิตข้าวเปลือกปี 2559/2560 ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2559 พบว่า ชาวนาทั้งประเทศเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวเป็น 58.4 ล้านไร่ หรือเพิ่ม 0.64% ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั่วประเทศล่าสุดคาดว่า จะมีประมาณ 25.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 4.51% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการที่ใช้ในการกำหนดโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ที่ปริมาณ 24.97 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 500,000 ตัน
"ผลผลิตข้าวหอมมะลิปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 9.5 ล้านตัน จากปกติประมาณ 7 ล้านตัน ซึ่งจะออกมากที่สุดในช่วง 3 สัปดาห์ต่อจากนี้ ยังไม่นับรวมสต๊อกข้าวเก่าของรัฐบาลอีก 8.4 ล้านตัน ประกอบกับมาตรการที่รัฐบาลออกมาก็ล่าช้า ควรประกาศตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่มาเริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน อีกทั้งยังมีการเทขายข้าวจากสต๊อกโครงการชะลอการขาย (ยุ้งฉาง) ของ ธ.ก.ส.ปีก่อนก็เพิ่งมาปล่อยระบายเมื่อเดือนตุลาคม ราคาแค่ตันละ 7,000 บาท ชี้นำตลาดเข้าไปอีก เมื่อสถานการณ์ทั้งผลผลิตและราคาเป็นอย่างนี้ ผมคาดว่า ชาวนาจะเข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉางปีนี้ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณ 500,000 ตันแน่นอน" ร.ต.ท.เจริญกล่าว
ล่าสุด ร.ต.ท.เจริญกล่าวว่า ผู้ส่งออกที่ไปรับออร์เดอร์ล่วงหน้าไว้ก่อนกำลังประสบปัญหา ขณะนี้ผู้ซื้อได้เจรจาขอลดราคาจากที่เคยตกลงกันไว้เมื่อ 1-2 เดือนก่อนลงอีก 40-50 เหรียญ หากไม่ลดราคาลง อาจจะเกิดความเสี่ยงที่ผู้ซื้อจะขยายระยะเวลาการชำระเงินจาก 45 วัน ออกไปเป็น 120 วัน หรือบางรายอาจถูกทิ้งออร์เดอร์เลย เพราะผู้ส่งออกข้าวส่วนใหญ่ 95% ไม่นิยมเปิด L/C "ปีนี้สมาคมประเมินว่า ไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 9.2-9.5 ล้านตัน แต่จะเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 2 รองจากอินเดีย ซึ่งมีการส่งออกได้ปริมาณ 10 ล้านตัน ส่วนสต๊อกข้าวโลกปีนี้จะสูงเป็นประวัติการณ์ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 120 ล้านตัน จากปี 2001 อยู่ที่ระดับ 146.5 ล้านตัน"
แห่จำนำยุ้งฉางหอมมะลิ
นางบุญเกิด ภานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า สมาชิกของสหกรณ์จะนำข้าวมาเข้าสหกรณ์เพื่อเข้าโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีกับ ธ.ก.ส. โดยโครงการนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาข้าวเปลือกในตลาดกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ประกอบกับรัฐบาลยังช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าว กับค่าขึ้นยุ้งฉาง รวมกันอีกตันละ 3,500 บาท (2,000+1,500 บาท) ตรงนี้จะสร้างแรงจูงใจ ทำให้ชาวนานำข้าวออกมาตากและต้องรักษาคุณภาพให้ดีที่สุด คาดว่าจะมีข้าวเปลือกผ่านสหกรณ์เข้าจำนำยุ้งฉางกับ ธ.ก.ส. ประมาณ 30,000 ตัน
ขณะที่ นางปาณชญา บวชสันเทียะ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ชาวนาในพื้นที่สนใจเข้าร่วมโครงการมากถึงร้อยละ 60-70% ส่วนที่เหลือนั้นส่วนใหญ่มีพื้นที่ยุ้งฉางเก็บน้อย และเป็นการเก็บในปริมาณไม่มาก คาดว่าจะมีข้าวเปลือกหอมมะลิเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 20,000 ตัน "ธ.ก.ส.จะรับจำนำข้าว 9,500 บาท/ตัน ทางสหกรณ์ก็จะให้สมาชิกเพิ่มอีก 500 บาท เป็น 10,000 บาท เพราะสหกรณ์ได้ค่าเช่าหรือฝากเก็บอยู่แล้ว 1,500 บาท แบ่งเป็นเบิกจ่ายครั้งแรก 1,000 บาท และไถ่ถอนอีก 500 บาท เพื่อเป็นการสนับสนุนสมาชิก การจำนำยุ้งฉางเป็นโครงการที่ดีมาก เพื่อจะได้ชะลอไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก" นางปาณชญากล่าว
รัฐช่วยหมดไม่เฉพาะ 3 ล้านราย
ด้านนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2559/2560 มีเป้าหมายรับจำนำข้าวยุ้งฉางรวม 3 ล้านตัน โดยข้าวที่จะร่วมโครงการจะต้องมีความชื้นไม่เกิน 15% และที่สำคัญจะต้องมียุ้งฉางด้วย "เกษตรกรต้องลดความชื้นเหลือไม่เกิน 15% แต่ข้าวที่ใช้รถเกี่ยวส่วนใหญ่ความชื้นจะอยู่ที่ 20-30% ดังนั้นข้าวที่จะเข้ายุ้งฉางจริง ๆ กรณีข้าวเปลือกเจ้ากับข้าวหอมปทุมอาจจะไม่ถึง 1 ล้านตันก็ได้ เพราะในอดีตก็เคยไม่ถึง ซึ่งเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางก็สามารถขายในราคาตลาด แล้วก็จะได้รับเงิน 2,000 บาทต่อตัน" นายสมศักดิ์กล่าว
ขณะที่ นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกมีเป้าหมายให้เก็บข้าวเข้ายุ้งฉางที่ 3 ล้านตัน เป็นจำนวนเกษตรกรกว่า 3 ล้านราย แต่ตามมาตรการแล้ว รัฐบาลช่วยชาวนาทุกรายที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวหอมปทุม โดยเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางก็จะสามารถขายข้าวไปตามราคาตลาด แล้วขอรับความช่วยเหลือในส่วนที่เป็นค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวได้ 2,000 บาท/ตันได้ ซึ่งกรณีนี้ ครม.กำหนดเพดานการจ่ายเงินช่วยเหลือไว้ ไม่เกินรายละ 12,000 บาท
สำหรับการจ่ายค่าเก็บเกี่ยวจะขึ้นกับชนิดข้าว ถ้าเป็นหอมมะลิที่ผลผลิตน้อยจะได้ 800 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่ เพดานจ่ายไม่เกิน 12,000 บาท/ราย แต่ถ้าเป็นข้าวเปลือกเจ้าจะได้ 1,000 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 12 ไร่ และกรณีข้าวหอมปทุมจะได้ 1,200 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 10 ไร่ เพดานไม่เกิน 12,000 บาท/รายเช่นเดียวกัน
"คนที่มียุ้งฉางก็ทำตามข้อกำหนด คือเกี่ยวเสร็จก็ตากให้ความชื้นไม่เกิน 15% เก็บเข้ายุ้งฉางแล้วก็ประสานเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ไปตรวจสอบเพื่อจ่ายสินเชื่อให้ ส่วนคนไม่มียุ้งฉางก็อาจจะขอเช่าฉางจากผู้ประกอบการข้าว หรือฉางของสหกรณ์ก็ได้ หรือถ้าไม่มีเลยก็ขายข้าวไปตามราคาตลาด โดยรัฐจะช่วยค่าเก็บเกี่ยว โครงการทั้งหมดนี้กำหนดเริ่มไว้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามนโยบายก็คือไม่ให้มีการแทรกแซงกลไกตลาด จึงออกมาที่การกำหนดราคาแบบนี้ ขณะเดียวกันก็มีการใช้หลาย ๆ มาตรการเพื่อทำให้กลไกตลาดทำงานได้ดีขึ้น" นายสุพัฒน์กล่าว
สรรพากรลุยเก็บข้อมูลโรงสี
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ทำหนังสือลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 แจ้งสรรพากรภาค และสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ เรื่องขอให้ออกตรวจแนะนำเพื่อรวบรวมข้อมูลการจัดซื้อข้าวเปลือกของผู้ประกอบการโรงสีในท้องที่ที่รับผิดชอบทั้งปริมาณและราคารับซื้อข้าวเปลือก รวมถึงต้นทุนและราคาจำหน่ายข้าวของผู้ประกอบการโรงสีข้าว ตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป โดยให้รายงานผลต่ออธิบดีกรมสรรพากร ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้
source: prachachat.net/news_detail.php?newsid=1479095737