data-ad-format="autorelaxed">
สถานการณ์ฮอตในช่วงนี้หนีไม่พ้นราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง แต่พืชอีกชนิดที่มาแรงไม่แพ้กันคือเรื่องราวของ
"มันฝรั่ง" ที่ระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ "ไกรสร กองฉลาด" ออกอาการฉุนขาดโพสต์เฟซบุ๊กไม่พอใจที่บริษัทแห่งหนึ่งจะมาสนับสนุนให้เกษตรกรบนภูทับเบิกปลูกมันฝรั่ง
เหตุที่ทำให้ผู้บริหารเมืองมะขามหวานนอตหลุดนั้น เพราะพื้นที่ภูทับเบิกอยู่ระหว่างการปลุกปั้นให้เป็นแหล่งปลูกพืชผัก "ออร์แกนิก" เป้าหมายให้เป็นแหล่งผลิตอาหารชั้นยอดของประเทศ โดยมุมมองของรองผู้ว่าฯคือ ถ้ามีการปลูกมันฝรั่งป้อนโรงงาน นั่นแปลว่ายังต้องพึ่งพาสารเคมี ความฝันเป็นแหล่งปลูกพืชผักออร์แกนิกอาจต้องดับลง พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การทำเกษตรแบบพันธสัญญา หรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) แม้จะมีตลาดซื้อขายที่แน่นอน แต่เกษตรกรยังต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องคุณภาพผลผลิต ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอย่างการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ขณะที่เกษตรกรภูทับเบิกในระดับผู้นำก็ได้ออกมาตอบโต้ยืนยันว่า เกษตรพันธสัญญาทำให้มีรายได้แน่นอนในราคากิโลกรัมละ 14 บาท พร้อมกับบอกว่าการปลูกมันฝรั่งใช้สารเคมีน้อยกว่ากะหล่ำปลี ทั้งนี้ มองว่าความหวังดีของรองผู้ว่าฯเรื่องออร์แกนิกเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเกษตรกร
ครม.หนุนนำเข้าหัวพันธุ์ไม่อั้น
สำหรับข้อมูลการปลูก "มันฝรั่ง" ในเมืองไทยนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า เริ่มขยายตัวมากตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา โรงงานผลิตมันฝรั่งทอดกรอบมีการขยายธุรกิจเติบโตมากขึ้น โดยมีการส่งเสริมและลงทุนจากภาคเอกชนจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด และบริษัท ยูนิแชมป์ จำกัด ทำให้ประเทศไทยทะยานขึ้นเป็นผู้ผลิตมันฝรั่งทอดกรอบอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่ความต้องการมันฝรั่งเพื่อแปรรูปในประเทศไทยปี 2557 มีจำนวน 170,000 ตัน แต่เกษตรกรไทยผลิตได้ประมาณ 123,000 ตัน นอกนั้นเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาแปรรูป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการเปิดตลาดหัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดแปรรูปตามความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้มีการเปิดตลาด "หัวพันธุ์มันฝรั่ง"
ในปี 2559 ไม่จำกัดจำนวน อัตราภาษีร้อยละ 0 และอัตราภาษีนอกโควตา ร้อยละ 125 และเห็นชอบการเปิดตลาด "หัวมันฝรั่งสด" เพื่อการแปรรูปปี 2559 ปริมาณในโควตา 45,000 ตัน อัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 27 และอัตราภาษีนอกโควตา ร้อยละ 125
เร่งวิจัย 2 พันธุ์
"จำลอง ดาวเรือง" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันผลผลิตมันฝรั่งในประเทศไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะมันฝรั่งที่ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นมันฝรั่งแผ่น ขณะที่หัวพันธุ์ก็ยังขาดแคลนมากทำให้ต้องนำเข้า ซึ่งกรมวิชาการเกษตรกำลังทำการวิจัยและพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่ง 2 พันธุ์สำหรับปลูกในฤดูหนาวและฤดูฝน ซึ่งเป็นการปลูกนอกฤดูให้สามารถทนโรคได้ เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
"แม้ว่าการนำเข้าจะสะดวก แต่ที่ผ่านมาปัญหาที่พบคือ หัวพันธุ์ที่นำเข้านั้นเป็นเจเนอเรชั่นท้าย ๆ แล้ว ซึ่งอาจจะอ่อนแอ เกิดโรคได้ง่าย สิ่งที่กรมได้ดำเนินการอยู่คือ ผลิตหัวพันธุ์เพื่อเป็นเจเนอเรชั่นต้น ๆ แล้วจะผลักดันเข้าคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ให้บริษัทเข้าร่วมผลิต เพื่อเป็นการลดต้นทุนเกษตรกร และได้หัวมันฝรั่งที่มีคุณภาพดี"
ส่วนเรื่องสารเคมีนั้นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวนกล่าวว่า พืชทุกชนิดหากต้องการผลผลิตสูงต้องใช้ปุ๋ยเคมี ส่วนออร์แกนิกก็อาจจะนำมาปลูกได้ แต่ต้องเป็นมันฝรั่งบริโภคผลสด เพราะหากเป็นพันธุ์โรงงานยังไม่เคยวิจัยว่า หากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีผลผลิตที่ออกมาจะได้มาตรฐานปริมาณแป้งตามที่โรงงานกำหนดไว้หรือไม่
ไม่พอป้อนโรงงาน 1.7 แสนตัน
ด้าน "ดร.กฤษณ์ ลินวัฒนา" นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการส่งเสริมให้ปลูกมันฝรั่ง เป็นการหาทางออกให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชหลังทำนา ไม่ว่าจะเป็นหอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม
ที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยแบ่งออกเป็น 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ใช้รับประทานสด และพันธุ์ที่ใช้สำหรับแปรรูปในโรงงาน หรือ มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ โดยสัดส่วน 90% เป็นพันธุ์โรงงาน อีก 10% เป็นพันธุ์บริโภคสด ซึ่งเกษตรกรร้อยละ 90 ทำแบบเกษตรพันธะสัญญา
"สถานการณ์มันฝรั่งตอนนี้ดีมานด์เพิ่มขึ้น ในอดีตความต้องการ 1 แสนตัน ปัจจุบันความต้องการ 170,000 ตัน ขณะที่กำลังการผลิตในประเทศมีประมาณ 123,000 ตันเท่านั้น จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรที่ปลูกหอมแดง หอมหัวใหญ่ หรือกระเทียม ซึ่งเป็นพืชหลังนาได้มาปลูกมันฝรั่งทดแทน มองว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะทำแบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งนั้นมีรายได้แน่นอน โดยช่วงฤดูแล้งได้ราคาประมาณ 11 บาท/กิโลกรัม ส่วนฤดูฝน 14 บาท/กิโลกรัม"
โอกาสและความเสี่ยง
ดร.กฤษณ์ บอกอีกว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรจะปลูกเฉพาะมันฝรั่งหน้าแล้ง เมื่อบริษัทขยายฐานการผลิตทำให้มีความต้องการทั้งปี ทำให้ต้องหาแหล่งปลูกเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตจะนำเข้าในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว แต่ถ้าสนับสนุนเกษตรกรก็จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่กรมยังไม่มีการส่งเสริมให้ปลูกหน้าฝน แต่มองว่าถ้าพึ่งพาหัวพันธุ์ต่างประเทศตลอดนั้นมีราคาแพง
จึงอยากให้เกษตรกรมีทางเลือกหน้าฝนด้วยหากมีฝีมือ เพราะการปลูกมันฝรั่งหน้าฝนนั้นทำยาก ต้องปลูกในพื้นที่สูง และอากาศเย็น
"กรณีภูทับเบิกบริษัทผลิตมันฝรั่งอาจไปลองถามดู ซึ่งหากไม่ปลูกมันฝรั่ง ชาวบ้านก็ต้องปลูกชนิดอื่นซึ่งมีให้เลือกไม่กี่ตัว เช่น ข้าวโพด หรือ ข้าวไร่ และถ้าไม่ใช่คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งก็ถือว่าเสี่ยง แต่ถ้าอยากให้เป็นพื้นที่ออร์แกนิกที่รองผู้ว่าฯเพชรบูรณ์พูดก็ถูก การปลูกมันฝรั่งออร์แกนิกทำได้ แต่ไม่คุ้ม ถ้าจะทำก็เป็นการปลูกแค่บริโภคผลสดเท่านั้น เพราะมันฝรั่งเหมือนพืชทั่วไปที่ต้องการปุ๋ย โดยเฉพาะหน้าฝนอาจจะเจอโรคใบไหม้ และมีไส้เดือนฝอย ต้องใช้สารเคมี แต่ไม่ว่าผักชนิดไหนก็ต้องใช้สารเคมี เพียงแต่เราสามารถทำ GAP ได้ คือ ไม่ให้สารตกค้างเกินกว่าค่าที่กำหนด"
อย่างไรก็ตาม ดร.กฤษณ์ มองว่า การทำมาตรฐาน GAP นั้น จะทำได้ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ซึ่งกรณีภูทับเบิก หากไม่ได้รับการรับรองจากผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่สามารถเข้าไปทำ GAP ได้
ไม่ว่าจะมองมุมไหน เป็นทางเลือก โอกาส หรือความเสี่ยง ก็อาจจะถูกทั้งหมด ทางออกที่ดีที่สุดจึงน่าจะขึ้นอยู่กับทิศทางและยุทธศาสตร์จังหวัด หันหน้าเข้าหากัน สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
source: prachachat.net/news_detail.php?newsid=1478492171