data-ad-format="autorelaxed">
ปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าว เป็นเรื่องเก่าและเกิดขึ้นซ้ำซากทุกยุคทุกสมัย การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมา มักเข้ามาแก้ไขในเรื่องกลไกโครงสร้างราคาเป็นหลัก ซึ่งหนีไม่พ้นการรับประกัน การรับจำนำ หรือไม่ก็การพยุงราคา ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้นเท่านั้น ด้วยราคาข้าวไทยผูกพันอยู่กับตลาดโลก และหลักการทางการตลาด “ดีมานด์และซัพพลาย” ข้าวจึงมีราคาถูกเมื่อปริมาณผลผลิตล้นตลาด และราคาแพงเมื่ออยู่ในภาวะขาดตลาด หรือแม้แต่ตลาดภายในประเทศเอง ก็หนีไม่พ้นเรื่องของดีมานด์และซัพพลายเช่นกัน
“การเพิ่มมูลค่า” (Value Added) เป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกหยิบมาเป็นโจทย์สำคัญ ในการพัฒนาข้าว ให้กลายเป็นสินค้าที่หลากหลาย และมีมูลค่ามากกว่าการขายเป็นเพียงข้าวเปลือกหรือข้าวสารเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมามีสินค้าจำนวนมากถูกพัฒนาจากข้าวและนำออกมาจำหน่าย ตั้งแต่กระบวนการง่ายๆ ไม่ซับซ้อน อาทิ แป้ง เส้นหมี่ ไปจนถึงสินค้าที่ไม่คิดว่าจะถูกพัฒนามาจากข้าว อาทิ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เคลือบเงาอเนกประสงค์ เป็นต้น
จากหมื่นพัฒนาสู่หลักแสน
“พรทิพย์ ตั้งกีรติ” เจ้าของ บริษัท อู่ข้าวอู่น้ำ จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้คิดค้นและพัฒนาสินค้า “คาร์ไรซ์แวกซ์” ครีมเคลือบเงาอเนกประสงค์จากน้ำมันรำข้าวอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ชนะเลิศจากการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ในปี 2555 จากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)ได้ฉายภาพให้เห็นถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาและใส่นวัตกรรมเข้าไปสินค้า ว่าข้าวเปลือกปัจจุบันราคาไม่ถึง 1 หมื่นบาท หากนำมาพัฒนาเป็นสินค้าตลอดทุกกระบวนการผลิต จะเพิ่มมูลค่าได้นับสิบเท่าตัว หรือมูลค่าหลักแสนบาท เนื่องจากทุกกระบวนการแปรรูปข้าวตั้งแต่เป็นข้าวเปลือก ออกไปเป็นสินค้าในขั้นตอนสุดท้าย ล้วนแต่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าได้ทั้งหมด
เจ้าของผลิตภัณฑ์คาร์ไรซ์แวกซ์ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ตั้งแต่นำข้าวเปลือกมาสี จะได้จมูกข้าว ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเป็นโจ๊กข้าวกล้องขายได้ราคากิโลกรัมละ 50 บาท จากที่ขายเป็นปลายข้าวได้เพียงกิโลกรัมละ 8 บาทเท่านั้น หรือรำข้าว หากนำไปขายเป็นอาหารสัตว์ จะมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 20 บาท ขณะที่หากนำมาผลิตภัณฑ์สบู่หรือสครับผิว มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 100 บาท หรือแม้แต่น้ำแช่ข้าวจากกระบวนการผลิตสินค้าข้าวชนิดอื่น ที่ปกติถูกทิ้งให้ไร้ประโยชน์ ทั้งที่มีวิตามินและแร่ธาตุจากธรรมชาติ สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในด้านการผลิตแชมพู สบู่ ครีมนวดผม หรือแม้แต่ครีมอาบน้ำสูตรธรรมชาติ ที่มีราคาลิตรละ 200-300 บาท
คุณค่าจากภูมิปัญญาไทย
ประโยชน์จากข้าวเป็นความรู้ภูมิปัญญาที่ถูกสั่งสมมานานตั้งแต่อดีต ซึ่งอยู่คู่กับวิถีชีวิตและสังคมไทยมานาน คนโบราณนำเอาน้ำซาวข้าวมาใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นแชมพูสระผม น้ำล้างหน้า และอาบน้ำ เพราะรู้ซึ้งในคุณประโยชน์จากข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ แต่คนไทยในยุคปัจจุบันแทบจะไม่ได้หุงข้าวด้วยตนเอง ทำให้ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งต่อ รวมถึงประโยชน์จากข้าวไม่ได้ถูกส่งเสริมให้รับรู้ได้ในวงกว้าง ทำให้สินค้าจากข้าวยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าต้นทุนต่ำแต่มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
“พรทิพย์” ย้ำว่าเป็นจุดอ่อนที่ควรจะต้องแก้ไข และต้องช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนไทยส่วนใหญ่รับรู้ในเรื่องประโยชน์จากสินค้าข้าว เพราะปัญหาราคาข้าวตกต่ำเป็นเรื่องที่แก้ไขกันมาโดยตลอด ชาวนาไทยยังปลูกข้าวเพื่อขายข้าว ซึ่งราคายังเป็นไปตามกลไกของตลาด ทั้งๆ ที่ข้าวสามารถนำมาพัฒนาเป็นสินค้าได้จำนวนมาก และหลากหลาย โดยนอกจากผลิตภัณฑ์เคลือบเงาอเนกประสงค์แล้ว บริษัทยังมีสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง และสินค้าของใช้ส่วนบุคคลจำหน่ายด้วย ซึ่งราคาถูกกว่าสินค้าในห้างสรรพสินค้าเป็นเท่าตัว
แก้ปัญหาทั้งซัพพลายเชน
“วาทิน วงศ์สุรไกร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนอเชอร์แคร์ จำกัดผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แป้งจากข้าว แบรนด์ไรซ์แคร์ (RiceCare) และแป้งฝุ่นแบรนด์เลดี้ ออเดรย์(Lady Audrey) ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างผู้พัฒนาและเพิ่มมูลค่าของข้าวไทย มองว่าปัญหาราคาข้าวปัจจุบัน จะต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายสินค้าปลายทาง โดยเฉพาะการปลูกพืชแบบผสมผสาน ไม่ใช่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือปลูกเฉพาะข้าวเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อราคาข้าวตกต่ำยังมีสินค้าการเกษตรชนิดอื่นที่ทดแทน และสินค้าการเกษตรไม่ใช่จะตกต่ำพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการใส่นวัตกรรม และสร้างสรรค์สินค้าที่หลากหลาย ก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ข้าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เฉพาะสินค้าที่บริษัทพัฒนาขึ้นมา มีราคาเพิ่มขึ้นจากต้นทุนถึง 100 เท่า แต่สินค้ายังได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั่วไปยังมีปริมาณไม่มาก จึงยังไม่ได้ส่งผลต่อโครงสร้างราคาข้าวในปัจจุบันเท่าไรนัก แต่ก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่แก้ไขปัญหาได้บ้าง โดยเฉพาะหากมีสินค้าที่ถูกพัฒนาจากข้าวจำนวนมาก ก็เป็นหนึ่งความหวังสำคัญของชาวนาไทยได้
หลากสินค้าจากข้าว
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับข้าว จึงได้ผลักดันการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรม “ข้าวไทย” เพื่อยกระดับการปลูกข้าวของเกษตรกรไทยโดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการสร้างความแตกต่างให้กับผลผลิตข้าวด้วยการใส่ “ความคิดสร้างสรรค์” บวกกับ “ภูมิปัญญา” จึงได้สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทยตลอดทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีสินค้าที่น่าสนใจ อาทิ “ฟองข้าวสุรดา” ฟองน้ำห้ามเลือดทางศัลยศาสตร์จากแป้งข้าวเจ้า โดย บริษัท บุณยนิตย์วัสดุแพทย์ จำกัด ลิปสติกอินทรีย์ “VOWDA” บริษัท โป๋วเอวี๋ยน จำกัด ครีมบำรุงผิวจากน้ำมันรำข้าว“Columbus”โดย บริษัท สยามเนเชอรัลโปรดักซ์ จำกัด แป้งพัฟจากแป้งข้าวเจ้า “Oryze” โดย บริษัท ไทยโปรดักส์ อินโนเวชั่น จำกัด เป็นต้น
แม้ว่าคนไทยจะพยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญา เพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย แต่นี่อาจจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการสร้างความยั่งยืนในอนาคต เพราะกระบวนการพัฒนาไม่ได้มีเพียงแค่สร้างสินค้าออกมาเท่านั้น ยังคงต้องมีกระบวนการ “สร้าง” ให้สินค้าสามารถยืนหยัดบนเวทีการค้าต่อไปด้วย แต่สิ่งสำคัญ คนไทยคงต้องหันมาช่วยเหลือและสนับสนุนสินค้าภูมิปัญหาไทยมากกว่าที่เป็นอยู่
source: thansettakij.com/2016/11/09/112409