data-ad-format="autorelaxed">
นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีกระแสการจำหน่ายข้าวสู่ผู้บริโภคโดยตรงของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นลูกชาวนา และการรวมตัวของชาวนาที่นำข้าวไปสีเอง เนื่องจากราคาข้าวตลาดโลกตกต่ำว่า เป็นปรากฎการณ์ที่ดี และหากมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องระยะยาว จะทำให้ชาวนามีช่องทางจำหน่ายที่หลากหลายมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่าการรวมกลุ่มจำหน่าย หรือการจำหน่ายตรงนั้นเพราะข้าวที่ผลิตอยู่เป็นข้าวคุณภาพดีอยู่แล้ว คือ ข้าวหอมมะลิ มีพื้นที่ปลูกอยู่ภาคอีสาน และบางส่วนมีโรงสีชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามกระแสดังกล่าวไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลช่วยเหลือช้า แต่ต้องเข้าใจว่าราคาข้าวในตลาดโลกปัจจุบันตกต่ำเพราะมีข้าวจากประเทศอื่นออกสู่ตลาดเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน
“ไทยมีการผลิตข้าวคุณภาพดีน้อยมาก เพื่อเทียบกับสัดส่วนข้าวทั้งหมด โดยกลุ่มชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ยังผลิตข้าวแข็งคุณภาพต่ำเพื่อใช้ในการส่งออก และบางส่วนนำมาหุงกินไม่ได้ต้องใช้ในการผลิตแป้งเส้นแทน ดังนั้นกลุ่มนี้ควรมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากความช่วยเหลือของรัฐบาล รวมทั้งการปรับตัวของชาวนาเอง แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของภาครัฐเช่นกัน ทั้งนี้ไม่อยากให้กระแสของการจำหน่ายเองมากลบกระแสหลักที่ควรมาจากความช่วยเหลือของรัฐบาล”นายประภาสกล่าว
นายประภาสกล่าวว่า ที่ผ่านมาความช่วยเหลือของรัฐบาลพบว่ายังเป็นแบบคิดเร็ว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เช่นนำถั่วเขียวมาให้ปลูกแต่ไม่มีการให้ความรู้ หรือติดตามผลอย่างจริงจัง ทำให้ชาวนาไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง หรือกรณีสนับสนุนให้ปลูกข้าวโพด 2 ล้านไร่เพราะหวังจะขายได้กิโลกรัมละ 8 บาท แต่ราคาปัจจุบันเหลือเพียง 3-4 บาทต่อกิโลกรัม กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอีก ดังนั้นแนวทางของรัฐควรรับฟังความเห็นจากชาวนา สนับสนุนให้ปลูกพืชบำรุงดิน สนับสนุนให้ปลูกข้าวคุณภาพสูง ปรับปรุงสายพันธุ์ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ที่มีให้เกษตรต่อเนื่อง ออกมาตรการที่ยั่งยืน เพื่อให้คนไทยหลุดพ้นการปลูกข้าวแข็งหรือข้าวคุณภาพต่ำ เพราะหากรัฐบาลได้ลองฟังความเห็นของชาวนาจะทราบว่าชาวนาต่างต้องการปรับตัวเช่นกัน ต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลายพื้นที่พยายามลดต้นทุนการปลูก มีการปลูกพื้นท้ายคันนา มีการทำนาบัวเป็นอาชีพเสริม
นอกจากนี้รัฐบาลควรเข้ามาดูตลาดข้าวอย่างจริงจัง อย่างกรณีข้าวถุงที่จำหน่ายในประเทศ ควรหาแนวทางที่จะทำให้ข้าวถุงไทยมีแบรนด์ที่หลากหลายขึ้นหรือไม่ เปิดโอกาสให้ชาวนาสามารถผลิตข้าวถุง และช่องทางจำหน่ายจริงจัง แต่ข้าวที่จำหน่ายก็ต้องเป็นข้าวที่มีคุณภาพด้วย ไม่ใช่การนำข้าวไม่ดีมาปน เรื่องนี้ต้องดำเนินการในภาพรวมเพื่อให้โครงสร้างข้าวไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
source: matichon.co.th/news/340789