data-ad-format="autorelaxed">
เมล่อนญี่ปุ่น
ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|
เผยแพร่ | |
---|
“อำเภอหนองหญ้าไซ” จังหวัดสุพรรณบุรี ถูกเรียกขานเชิงประชดประชันว่า เป็นพื้นที่ “อีสานสุพรรณ”
เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ ไม่มีแม่น้ำสายหลักและอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำชลประทาน จึงขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกมาโดยตลอด ยุคนี้จะพึ่งพาน้ำฝนเพื่อใช้ในการทำนาเหมือนในอดีตคงจะไม่ไหว เกษตรกรในท้องถิ่นแห่งนี้จึงเปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาปลูกเมล่อนญี่ปุ่น จนประสบความสำเร็จทั้งหมู่บ้าน
วิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง
เมื่อ ปี 2549 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนญี่ปุ่นในท้องถิ่น ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง” ภายใต้การนำของ คุณอำนาจ แตงโสภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแจงงาม (อบต.แจงงาม) ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ว่าเป็นผู้ผลิตเมล่อนญี่ปุ่นในรูปแบบโรงเรือนปิด ปลอดสารพิษตกค้างตามมาตรฐาน GAP ที่มีคุณภาพรสชาติความหวานเป็นที่ 1
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง มีการจัดการผลิตที่เป็นระบบ โดยกำหนดรอบเวรให้สมาชิกแต่ละรายปลูกห่างกัน 4 วัน เพื่อให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบแห่งนี้ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง และมีความสามัคคีปรองดองในกลุ่มสมาชิก ที่ผ่านมาพวกเขามักรวมตัวกันใช้แรงงานร่วมกัน ที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า “ลงแขก” ไปช่วยผสมเกสรในแปลงปลูกเมล่อนของเพื่อนสมาชิก เพื่อให้ได้ผลผลิตทันเวลาและช่วยกันลงแขกเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ทำให้สมาชิกกลุ่มทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากทุกคนต้องการร่วมมือกันพัฒนาเมล่อนของชุมชนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
ทุกวันนี้เกษตรกรในท้องถิ่นหันมาปลูกเมล่อนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยทางกลุ่มจะจัดอบรมความรู้เรื่องการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นให้แก่เกษตรกรมือใหม่ได้รู้จัก “วงจรชีวิตแตงเมล่อน” โดยช่วงวันที่ 1-10 เป็นขั้นตอนการเพาะกล้า ช่วงวันที่ 11-22 เป็นขั้นตอนการตัดแต่งแขนง ช่วงวันที่ 23-25 เป็นระยะผสมเกสร ช่วงวันที่ 26-30 เป็นระยะคัดผลและแขวนลูก ช่วงวันที่ 36-60 เป็นระยะเร่งลูก บำรุงปุ๋ยให้ต้นเมล่อนญี่ปุ่นเจริญเติบโตตามที่ต้องการ ช่วงวันที่ 61-70 วัน เน้นเพิ่มความหวานให้ผลเมล่อนญี่ปุ่น และช่วงวันที่ 71-75 เป็นระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต
“ผมมักแนะนำให้เกษตรกรมือใหม่ทดลองปลูก จำนวน 4 โรงเรือนก่อน โรงเรือน ขนาด 3.5×36 เมตร ปลูกได้ 740 ต้น สามารถสร้างรายได้ถึงรอบละ 4-4.5 หมื่นบาท ต่อโรงเรือน อย่างไรก็ตาม การปลูกในครั้งแรกจะมีต้นทุนค่าโรงเรือน ค่าระบบน้ำ ประมาณ 220,000 บาท และมีต้นทุนการปลูกเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ เฉลี่ยรอบละประมาณ 8,000 บาท เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด เกษตรกรมือใหม่จะมีโอกาสคืนทุนและได้ผลกำไรภายใน 1 ปี” คุณอำนาจ กล่าว
เนื่องจากกลุ่มจัดหลักสูตรอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ช่วยทำให้เกษตรกรมือใหม่ทุกราย สามารถผลิตเมล่อนญี่ปุ่นคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาด ภายในเวลา 1 ปี เกษตรกรสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวเมล่อนญี่ปุ่นได้ถึง 3 รอบ หากมีการวางแผนจัดการที่ดี บางรายอาจปลูกเมล่อนญี่ปุ่นได้ถึง 7 รอบ ภายในระยะเวลา 2 ปี
“การปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดพอสมควร เมล่อนญี่ปุ่นเป็นพืชที่ทนอากาศร้อนได้ดี แถมใช้น้ำน้อย ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำที่ใช้ทำนา ใช้เวลาปลูกดูแลเพียงแค่ 75 วัน เท่านั้น ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ เมล่อนแต่ละผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัม แต่ละโรงเรือนจะเก็บผลผลิตออกขายได้ประมาณ 1 ตัน ขายส่งในราคากิโลกรัมละ 53-60 บาท” คุณอำนาจ กล่าว
สมาชิกกลุ่มทุกคนตั้งใจผลิตเมล่อนญี่ปุ่น คุณภาพดีออกจำหน่าย หากผลผลิตไม่หวานไม่ตัดออกขายอย่างเด็ดขาด ทำให้สินค้าเมล่อนญี่ปุ่นทุกลูกที่ผลิตจากชุมชนฯ แห่งนี้ มีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เรียกว่าผลิตจนไม่ทันกับความต้องการของตลาด สินค้ามีมากเท่าไหร่ ก็ผลิตไม่พอขาย ปัจจุบัน ทางกลุ่มมีสมาชิกราว 80 คน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 100 ไร่ และยังคงขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ ตั้งเป้าผลิตเมล่อนญี่ปุ่นให้ได้ 70 ตัน ทุกเดือน
“ลงแขกผสมเกสรเมล่อนญี่ปุ่น”
“ผู้ใหญ่หมู” หรือ คุณชูศักดิ์ แตงโสภา โทรศัพท์ 08-1924-8192 หนึ่งในสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ผมปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลัก แต่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ผลกำไรเหลือไม่มาก ต่อมา ปี 2554 เห็นเพื่อนเกษตรกรในชุมชนปลูกเมล่อนญี่ปุ่นแล้วได้ผลตอบแทนที่ดี ก็สนใจทดลองปลูกเมล่อน ปรากฏว่าสามารถคืนทุนได้ตั้งแต่การปลูกรอบแรก จึงขยายพื้นที่ปลูกเมล่อนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
การปลูกเมล่อนญี่ปุ่นให้ได้ผลผลิตที่ดี อยู่ที่เทคนิคการผสมเกสรดอกเมล่อนในระยะเวลาที่เหมาะสม คือตั้งแต่เวลา 07.00-11.00 น. หลังจากนี้ ไม่ได้ผลนัก เพราะพืชคายน้ำ ปัจจุบัน ทางกลุ่มได้ช่วยกันทำงาน โดยลงแขกผสมเกสรต้นเมล่อนญี่ปุ่น ทำให้สมาชิกทุกรายได้ผลผลิตที่ดี โดยทั่วไปดอกเมล่อนเป็นดอกสมบูรณ์ คือมีเกสรดอกตัวผู้และเกสรดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้จะอยู่ระหว่างข้อบนลำต้น การผสมเกสรจะทำในตอนเช้า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ 07.00-09.00 น. โดยเลือกผสมดอกเพียง 2-3 แขนง ต่อต้น อาศัยการจดบันทึกดอกบาน หรือจำนวนดอกที่ผสมในแต่ละวัน เพื่อกำหนดวันเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมล่อน คุณภาพดี
“แม็คโคร” รับซื้อไม่อั้น
คุณศิริพร เดชสิงห์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด พัฒนาธุรกิจ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า เมล่อนญี่ปุ่นเป็นผลไม้ที่ตลาดต้องการสูง ในแต่ละปีแม็คโครขายเมล่อนกว่า 700 ตัน โดยรับซื้อเมล่อนญี่ปุ่นจากเกษตรกรในเครือข่ายที่ปลูกในจังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 150 ตัน โดยแม็คโครดูแล ใส่ใจควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน เนื้อแน่น หวาน กรอบ กลิ่นหอมตามธรรมชาติ ควบคุมสภาพดินและน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกในฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการเกษตรที่ดี (GAP) ควบคุมโรงคัดบรรจุตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างและยาฆ่าแมลง ที่สำคัญผลผลิตทุกลูกสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งเพาะปลูก
ด้าน ผศ.ดร. ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล ภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรไทยมีศักยภาพผลิตเมล่อนให้ได้ถึงมาตรฐานสากล (Global G.A.P.) โดยมีเงื่อนไขในการพิจารณาแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ด้วยกันคือ ผลผลิตปลอดภัยได้คุณภาพ ไร้สารเคมีตกค้าง คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์