data-ad-format="autorelaxed">
โครงการต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรินั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างจริงจังและตรงจุด พระองค์ทรงเริ่มพัฒนาชนบทมาตั้งแต่ปี 2495 ส่วนใหญ่เป็นโครงการพัฒนาหมู่บ้านที่ห่างไกลและทุรกันดารที่นำประโยชน์เข้าไปถึงมือราษฎรโดยตรง
นับเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและเขตพื้นที่ล้าหลังได้อย่างตรงเป้าที่สุด เช่น พระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ประเภทเหมือง ฝาย อ่างเก็บน้ำ เป็นพระราชดำริที่พระองค์มีพระราชประสงค์ให้สร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ๆ ราคาถูกแต่ได้ผลคุ้มค่า และสร้างให้มากแห่ง เพื่อกระจายออกไปสู่พื้นที่หมู่บ้านนอกเขตชลประทานและทุรกันดาร
หรือการพัฒนาการเกษตรซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จะทรงศึกษาเรื่องต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองแล้วพระราชทานพระราชดำริที่ทรงเน้นอยู่เสมอที่จะหาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้และวิทยาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม มาส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนไปดำเนินการเพื่อเพิ่มผลผลิตในขบวนการผลิตของตน
พระองค์ไม่นิยมการให้ในลักษณะของการสงเคราะห์ประการเดียว แต่จะทรงยึดหลักให้ประชาชนได้มีส่วน “เข้าร่วม” ตามหลักการพัฒนาชุมชนอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันการวิเคราะห์หรือพิจารณาโครงการต่าง ๆ ก็ทรงกระทำโดยหลักวิชาการที่ถูกต้อง โดยมองถึงประโยชน์ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับเป็นสำคัญ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกโครงการ ล้วนมุ่งพัฒนาชนบทเพื่อให้ประชาชนสามารถ “พออยู่พอกิน” และสามารถพึ่งตนเองได้ ด้วยวิธีการหลาย ๆ ประการที่เหมาะสมกับการพัฒนาชนบทแบบไทย ๆ เป็นการพัฒนาแบบประหยัดเหมาะสมกับพื้นที่และพื้นฐานของคนไทย รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อพัฒนาชุมชนร่วมกัน
ซึ่งแนวทางต่าง ๆ เหล่านี้ได้กลายมาเป็นรากฐานของการพัฒนาชนบทแนวใหม่ในแผนพัฒนาชนบทพื้นที่ยากจนของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกวันนี้
นับได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสร้างความสมดุลให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พระราชกรณียกิจของพระองค์ได้มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้การพัฒนาชนบท การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเพื่อความมั่นคงและความเป็นธรรมในสังคมได้รับความเอาใจใส่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาโครงข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
พระองค์ทรงมีพระเมตตา ทรงมีความรอบรู้เชี่ยวชาญทางการเกษตร เพราะเป็นกิจกรรมที่พระองค์ทรงงานอยู่ ทรงสอนให้รู้จักดิน น้ำ ลม ไฟ รู้จักธรรมชาติรู้จักคน ทรงแนะนำให้ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ด้านการบริการในฐานะส่วนงานภาครัฐ ว่า ต้องเคารพภูมิสังคม ภูมิ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนสังคม คือ คน ซึ่งเป็นคนในมิติที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และค่านิยม
ตลอดระยะเวลาที่ทรงงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ การรักษาดิน น้ำ ลม ไฟ ทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่เสื่อมโทรมแล้วฟื้นกลับคืนมา ทั้งทรงแก้ไข ฟื้นฟู และบำรุงรักษา พระองค์มีรับสั่งแล้วทรงทำให้ดูด้วย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มี 6 แห่ง ทั้งทางภาคกลาง เหนือ อีสาน ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ก็เพื่อให้เห็นถึงวิธีการในแต่ละภาค ซึ่งจะไม่เหมือนกัน
การคิดโครงการแล้วนำมาทำเหมือนกันหมดทั้งประเทศนั้น พระองค์ตรัสกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินติดตามการทำงานด้านการพัฒนาในพื้นที่ว่าไม่ใช่ เพราะแต่ละแห่งย่อมมีภูมิสังคม ดิน น้ำ ลม ไฟ กระทั่งคนนั้น แตกต่างกัน
พระองค์ทรงยึดถือว่าการพัฒนาใด ๆ นั้น จะต้องให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นของในแต่ละภูมิภาคนั้น ๆ ทำอะไรให้คิดถึงภูมิประเทศก่อน และให้นึกถึงสังคมหรือคนด้วย
ก่อนกำหนดแนวทางหรือวิธีการของการปฏิบัติในการพัฒนา จะต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และลักษณะของคน นับตั้งแต่ประเพณี หลักปฏิบัติ ค่านิยม ซึ่งแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน
และก่อนที่พระองค์จะพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนานั้น พระองค์จะทรงทำการทดลองก่อน ทรงรวบรวมองค์ความรู้เป็นระบบ แล้วจึงนำมาถ่ายทอด มีรับสั่งแก่ผู้เกี่ยวข้องเสมอว่า การที่จะแนะหรือไปสอนประชาชนให้ทำโครงการใดโครงการหนึ่งต้องระวังให้มาก เพราะหากพลาดไปแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ได้แย่ แต่ประชาชนจะแย่ เช่น เจ้าหน้าที่ไปแนะให้ประชาชนปลูกอะไรสักอย่าง ถ้าได้ผลก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้ผล ประชาชนจะแย่ เพราะฉะนั้นต้องระวังให้มาก และที่แย่กว่านั้นคือต้นไม้ที่เจ้าหน้าที่ไปแนะให้ประชาชนปลูก กว่าจะรู้ว่าสำเร็จหรือไม่ต้องใช้เวลา 4-5 ปี
เพราะฉะนั้น เรื่องเกษตร ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้องระวังอย่างมาก เพราะเมื่อพลาดแล้วฟื้นกลับคืนยาก ไม่เหมือนเรื่องอุตสาหกรรมหรือเรื่องอื่น ๆ ที่สามารถไปกู้เงินมาดำเนินการต่อได้ เรื่องธรรมชาติฟื้นกลับมายากที่สุด
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศ 4,000 กว่าโครงการนั้น จึงได้รับการพิจารณาอย่างทั่วถ้วนในด้านต่าง ๆ ก่อนการดำเนินการและขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎร และในแต่ละพื้นที่นั้นก็จะมีการดำเนินการที่ไม่เหมือนกันตามพระราชดำริของพระองค์
source: dailynews.co.th/agriculture/531274