data-ad-format="autorelaxed">
นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างเตรียมใช้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายระบบใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและองค์การการค้าโลก(ดับเบิ้ลยูทีโอ) และเพื่อชี้แจงต่อประเทศบราซิลระหว่างการเดินทางไปเจรจา วันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ที่ประเทศบราซิล โดยภายหลังการปรับโครงสร้างจะทำให้การจัดสรรระบบโควตาต้องยกเลิกไป และสอน.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลระบบการจัดสรรใหม่น้ำตาลฤดูการผลิต 2559/60 โดยโควตา ก.สำหรับบริโภคในประเทศจะเปลี่ยนเป็นปริมาณน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะมีกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลด้านราคาที่จะลอยตัวตามกลไกตลาดโลก มีปริมาณใกล้เคียงกับที่ผ่านมาประมาณ 26 ล้านกระสอบ หรือ 2.6 ล้านตันอ้อย และโควตา ข.ที่ส่งออกผ่านการทำราคาของบริษัท อ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) จะปรับเป็นชื่อ การส่งออกน้ำตาลทรายสำหรับทำราคาเพื่อคำนวณราคาส่งออก ปริมาณ 7-8 แสนตันอ้อย และส่วนที่เหลือที่เคยเป็นโควต้า ค. ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศก็ดำเนินการตามปกติ
“การปรับโครงสร้างดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงและเริ่มใช้ในปี 2559/60 คาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงกระบวนการอย่างสมบูรณ์ในช่วงระยะเวลา 1 ปี คือฤดูการผลิต 2560/2561 สำหรับราคาน้ำตาลที่ลอยตัวนั้นจะส่งผลให้การเก็บเงิน 5 บาทเข้ากองทุนยกเลิกโดยปริยาย ซึ่งก็สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติเห็น”นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศตกลงเสนอ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำหนดวันเริ่มเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้งที่ผ่านมา จนทำให้อ้อยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจึงคาดการณ์ว่า อ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 จะมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 94.05 ล้านตันอ้อย สอดคล้องกับการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบของ สอน. ก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบในปีนี้เพียง 91.05 ล้านตันอ้อย หรือลดลง 3 ล้านตัน จากปีก่อนหน้า
นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะลดลง แต่กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลคาดว่าผลผลิตน้ำตาลโดยรวมทั้งอุตสาหกรรมจะมีปริมาณลดลงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณน้ำตาลทรายทั้งสิ้น 9.78 ล้านตัน เนื่องจากมีปริมาณฝนกระจายทั่วถึงในพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ช่วงกลางปี หากฝนยังตกกระจายจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้ และสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงปลายปีจะช่วยให้อ้อยสามารถสร้างความหวานได้ดี และส่งผลต่อคุณภาพอ้อยเข้าหีบที่ทำให้โรงงานสามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิดล์) ได้ดีกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 104.95 กิโลกรัมต่อตันอ้อย