data-ad-format="autorelaxed">
อนาคตข้าวไทยในตลาดโลก
อนาคตข้าวไทยในตลาดโลก ต้องออกจากวังวนปัญหา “จำนำ-ประกัน” พัฒนาสู่เกษตรอุตสาหกรรม ผลักดันให้เกิดปฏิวัติเขียวรอบสอง โดย ดร.สารสิน วีระผล
อนาคตข้าวไทย จะเป็นอย่างไร คำถามนี้คงอยู่ในใจของใครหลายคน เพราะข้าวถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีต แต่วันนี้ทั้งจีน เวียดนาม มีพัฒนาการก้าวไกลสามารถผลิตข้าวได้มากถึงไร่ละ 2,000 กิโลกรัม ในขณะที่ประเทศไทยผลผลิตต่อไร่ยังคงอยู่ที่ 400-600 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น จะมีบางพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานเท่านั้นที่มีผลผลิตข้าวไร่ละ 800 กิโลกรัม
แม้แผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี (พ.ศ.2554-2558) จะเน้นการส่งออกข้าวคุณภาพดี เพื่อเพิ่มมูลค่าแทนการเพิ่มปริมาณส่งออก และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อไทยจะได้เป็นศูนย์กลางการค้าข้าว แต่ดูเหมือนว่าโจทย์ของประเทศไทยวันนี้เนื้อหาสาระยังไม่ต่างจากที่ผ่านมา
ในมุมของซี.พี.เห็นว่า ข้าวเป็นสินค้าที่สำคัญ เป็นพระเอกของประเทศไทยมานานนับ 100 ปี ในปัจจุบันนำเงินเข้าประเทศแต่ละปีมากกว่าแสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีทุกวันนี้เราพูดกันแค่ว่า ราคาข้าวจะเป็นเท่าไร รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณลักษณะไหน จะประกันราคา หรือจำนำดี แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องอื่นที่สำคัญมาก เช่น การพัฒนาการผลิตข้าวของหลายประเทศที่วันนี้ไม่จำเป็นต้องตามหลังประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว หรือพม่าที่ดูเหมือนว่ากำลังพัฒนาผงาดขึ้นมามีบทบาทเรื่องการผลิตข้าวอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากพม่ามีที่ดินอยู่มากกว่า 4 แสนไร่ที่พร้อมให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน ช่วยฟื้นฟูการปลูกข้าวในประเทศของเขาทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศของพม่าเฟื่องฟูขึ้น ซึ่งถ้าหากพม่าจับมือกับเวียดนาม หรือจีน ปลูกข้าว พม่าจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับประเทศไทย เพราะในอดีตพม่าเคยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวสูงกว่าประเทศไทย
ดังนั้น รัฐบาลต้องปรับอุตสาหกรรมข้าวให้มีการทำงานในลักษณะบูรณาการ เพื่อรักษาฐานความเป็นผู้นำธุรกิจข้าวในตลาดโลกไว้ให้ได้
เพราะขณะนี้เราต้องยอมรับว่าชาวนา จำนวนมากไม่สามารถพึ่งแปลงข้าวเพื่อความอยู่รอดได้ หลายครอบครัวต้องไปแสวงหาอาชีพเสริม ซึ่งต่อมากลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว พื้นที่นาจำนวนไม่ใช่น้อยจึงถูกทิ้งร้าง และถูกนำไปพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์โดยกลุ่มนายทุนและนักการเมือง
สรุปง่ายๆขณะนี้ ผู้ปลูกข้าวตกอยู่ในฐานะลำบาก ถูกล้อมกรอบด้วยปัจจัยที่ไม่เป็นมิตร ดังนั้น ชาวนาไทยไม่ว่ากี่ปี ก็ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นแต่ยังคงมีความเป็นอยู่เหมือนเดิม วันนี้รัฐบาลจึงต้องแก้ปัญหาแบบบูรณาการ มีการวางแผนพัฒนาข้าวไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งในแง่การค้า ความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำนา
ที่สำคัญต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจนว่า 10 ปีข้างหน้าบทบาทข้าวไทยในการพัฒนาประเทศจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร(food security)จะดูแลอย่างไร เพราะหากไม่คำนึงถึงเรื่องนี้อนาคตประเทศไทยจะไม่สามารถส่งออกข้าวได้
วันนี้ถ้าเราหันไปดูชาวนาญี่ปุ่นจะเห็นชัดเจนว่า ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมข้าวเป็นอย่างมาก ทั้ง ๆที่พื้นที่ที่ปลูกมีอยู่ค่อนข้างจำกัด แต่เมื่อเขามองว่าข้าวเป็นส่วนประกอบสำคัญของชนชาติ ข้าวในสายตาของคนญี่ปุ่นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงประเทศ คนญี่ปุ่นนอกจากจะกินข้าวอย่างระมัดระวังแล้วยังรักษาวัฒนธรรมในการเห็นคุณค่าของข้าวเอาไว้ด้วย ในขณะที่การปลูกข้าวในญี่ปุ่นยากเย็นกว่าของประเทศไทยเยอะ แต่คนญี่ปุ่นถือว่านี่คือชีวิตจิตใจของพวกเขา
ดังจะเห็นได้จากการยอมจ่ายเงินเพื่อบริโภคข้าวญี่ปุ่นของคนญี่ปุ่น แม้ว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็น 10 เท่าแต่ คนญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะกินข้าวญี่ปุ่น
ถ้าประเทศไทยทำอย่างนั้นได้ สร้างความตระหนักในเรื่องการทำนาว่าเป็นอาชีพที่คนไทยต้องรักษาไว้ ก็จะเป็นโอกาสที่ได้ช่วยเหลือฐานะของผู้ผลิตข้าว ช่วยชาวนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การบูรณาการเรื่องข้าว รัฐต้องไม่คิดถึงเรื่องการส่งออกอย่างเดียว ไม่มองการประกันราคาข้าวหรือกลไกด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงบริบทในกระบวนการผลิตข้าวทั้งหมด ซึ่งรวมถึงคุณภาพชีวิตของชาวนา คนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวไปพร้อมๆ กันด้วย
การจะเพิ่มผลผลิตข้าวให้ได้ปริมาณมาก คุณภาพดีขึ้น ในเบื้องต้นต้องยอมรับก่อนว่า ข้าวเป็นพืชที่ชอบน้ำ ดังนั้นพื้นที่ภาคกลางจึงเหมาะสมกับการทำนาข้าวมากที่สุด เพราะมีระบบชลประทานที่สามารถทำนาได้ปีละหลายครั้ง ส่งผลให้โปรดักติวิตี้สูงกว่าการทำนาในภาคอื่น
ส่วนภาคอีสานที่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อในการปลูกข้าวหอมมะลิ เราต้องพยายามรักษาความได้เปรียบและพัฒนาจุดเด่นตรงนี้ให้ดีขึ้น เพื่อให้คนปลูกข้าวหอมมะลิ มีกำลังใจอยากปลูกข้าวหอมมะลิต่อไป
"เราบอกว่าข้าวของไทยดีที่สุด แต่ทำไมชาวนาไทยยังยากจนที่สุด"
ในเรื่องนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. เคยยกตัวอย่างให้ฟังเสมอว่า เกาหลีใต้ ดิน ฟ้า อากาศสู้เมืองไทยไม่ได้เลย แต่เกาหลีใต้ ใช้เวลา 27 ปี เกษตรกรของเขาไปเที่ยวทั่วโลกได้ ทำไมเมืองไทยอุดมสมบูรณ์แบบนี้ ชาวนาไทยยังจนอยู่
นายธนินท์บอกไว้ว่า ถ้าเราไม่ปลูก ก็จ้างคนไปปลูกได้ หรือนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เอาเครื่องจักรมาช่วย ก็สามารถพัฒนาที่นาผืนใหญ่เป็นพันเป็นหมื่นไร่ให้มีผลผลิตที่สูงได้ โดยใช้คนเพียงหนึ่งคน แต่เวลานี้รัฐบาลพูดแต่การแก้ไขปัญหาราคาข้าวด้วยวิธีประกันและจำนำ ส่วนเรื่องการวิจัยพันธ์ข้าวต่างๆ มีการพูดถึงน้อยลงๆ ทุกวัน
อีกประเด็นที่สำคัญในเรื่องของข้าวไทย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ประเทศไทยก็ยังคงขายสินค้าเดิมๆคือ เมล็ดข้าว นำข้าวเปลือกมาสี ทำความสะอาด แล้วส่งออก แต่ไม่แปรรูปข้าวให้มีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้คุณภาพข้าวดีขึ้น แทนที่จะขายในแบบเดิมๆ
เหมือนไก่ของไทย สมัยก่อน เอามาชำแหละตัดออกเป็นชิ้นๆ แล้วส่งขาย ได้กำไร 7-10 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้เราเอาไก่เป็นชิ้น มาผสมส่วนผสมอื่นเข้าไปเป็นอาหารสำเร็จรูป แล้วแช่แข็ง เมื่อส่งออกไปขายก็ได้ในราคาที่สูงขึ้น
หรือแม้แต่มันสำประหลังสมัยก่อนไทยส่งไปเป็นอาหารสัตว์ในยุโรป แต่ตอนหลังพัฒนานำไปทำกระดาษ มันสำประหลังวันนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงสินค้าเพื่อการบริโภคของสัตว์แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถนำไปทำพลังงานทดแทนได้ ซึ่งข้าวก็น่าจะพัฒนาต่อยอดได้ เพราะถ้าประเทศไทยไม่พัฒนาเรื่องการผลิตข้าวต่อไปประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ หรือ พม่า ก็จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย เพราะทุกประเทศสามารถปลูกข้าวส่งออกไปขายได้เช่นกัน
ในภาวะที่ประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าในอีก 30-40 ปีข้างหน้าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านคน การบริโภคข้าวย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ตรงนี้ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยต้องตระหนักว่าแม้จะมีโอกาสที่ดีแต่การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ก็สูงเช่นกัน เพราะมีคู่แข่งในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยจะรักษาฐานการส่งออกข้าวและสามารถตอบสนองอุปสงค์โลกที่เพิ่มขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบของปะเทศไทยได้อย่างไร
รัฐจึงจำเป็นต้องสนับสนุนการวิจัย และมองหาตลาดใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยพันธ์ข้าว แล้วกำหนดทิศทางให้ชัดเจนว่าจะพัฒนาไปทางไหนบ้าง จะมีวิธีการเพิ่มคุณภาพของข้าวได้อย่างไร เช่น นำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ เหมือนกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ทำเรื่อง Golden rice เพิ่มวิตามินเข้าไปข้าว ทำให้ข้าวมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น หรือแม้แต่การพิจารณาเทคโนโลยีใหม่ การตัดแต่งยีนส์ที่ช่วยแก้ปัญหาภาวะแล้งก็ดีหรือการลดการใช้ยาปราบศรัตรูพืช หรือแม้แต่การใช้ปุ๋ยเคมี
จริงๆ แล้วเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เกษตรกรรมของไทยเคยได้รับอานิสงฆ์จากการปฏิวัติเขียว ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรจนสามารถส่งอาหารออกไปขายในต่างประเทศได้
วันนี้มีไบโอเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เราจะไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานวิจัยใหม่ๆ เหล่านี้เลยหรือ? จะไม่นำงานวิจัยเหล่านี้มาช่วยเพิ่มผลผลิต นำเอาเทคโนโลยีใหม่ มาทำให้เกิดปฏิวัติเขียวครั้งที่สองในประเทศไทยหรือ?
อยากยกตัวอย่างชาวนาในเทกซัส ที่ทำการเกษตรจนร่ำรวย วันดีคืนดีได้มีโอกาสไปเที่ยวบราซิล พอไปเห็นที่ดินของบราซิลที่กว้างใหญ่ไพศาล และเหมาะกับการพัฒนาการเกษตรเหมือนเทกซัส ก็เห็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ ชั่วข้ามคืนชาวนาเทกซัสก็นำวิชาความรู้ที่มีมาบุกเบิกที่ดินในบราซิลซึ่งมีจำนวนมหาศาลสร้างรายได้เข้าประเทศ
วันนี้ถ้าหากเราพัฒนาชาวนาไทยให้เขามีโอกาสบินไปเที่ยวพม่าบ้าง แล้วเห็นสภาพที่ดิน ชาวนาไทยอาจจะเห็นโอกาสแล้วนำความรู้ วิธีการจัดการไปใช้พัฒนาที่ดินพม่าก็เป็นได้ ฉะนั้นหลักสำคัญจึงอยู่ที่รัฐบาลต้องมีทัศนะวิสัย ไม่เอา blinders มาครอบไว้เหมือนม้าแข่ง เพราะจะทำให้ไม่เห็นสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงการผลิตข้าวอย่างจริงจัง เปิดเซ็กเตอร์นี้ให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมพัฒนาข้าวไทยอย่างบูรณาการ จัดการทุกอย่างโดยใช้ระบบที่เป็นปัจจุบัน ได้มาตรฐานสากล พัฒนาเรื่องการวิจัยพันธ์ข้าว นำเทคโนโลยีระดับโลกและการจัดการที่ทันสมัยมาใช้ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ การพัฒนาระบบชลประทาน เพราะข้าวถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญมาก การดำเนินงานจึงต้องทำในลักษณะคล้ายๆกับการจัดนิคมอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาข้าวไทยสู่เกษตรอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องของเมล็ดพันธ์ การแปรรูป การหาตลาดใหม่ ๆ
รัฐต้องนำสิ่งที่ข้าวไทยได้เปรียบตลอดมาทั้งเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมบทบาทข้าวไทยให้โดดเด่นยิ่งขึ้นในตลาดโลก เพื่อก้าวสู่มิชชั่นใน 2 เรื่อง คือ food security และการก้าวไปสู่ยุทธศาสตร์การเป็นครัวของโลก
วันนี้ประเทศไทยเป็นผู้นำเรื่องการค้าข้าวแต่ในทางปฏิบัติเราไม่ทำหน้าที่เป็นผู้นำ แต่กลับปล่อยให้ประเทศอื่นก้าวขึ้นมา อย่างเช่นเวียดนามเงื่อนไขทางธรรมชาติไม่ได้ดีกว่าไทย แต่บางปีเวียดนามส่งออกข้าวได้จำนวนมาก เพราะว่านโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้มีการส่งออกเต็มที่
ข้าวเป็นอาหารเลี้ยงดูคน ดังนั้นคนปลูกข้าวจึงเป็นผู้มีพระคุณที่ต้องได้รับการดูแล อนาคตของข้าวไทยจึงจะพัฒนาไปได้
อยากเน้นว่าการจัดการข้าวแบบบูรณาการ รัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับเรื่องข้าวทั้งหมด ทั้งเรื่องเมล็ดพันธ์ ดินฟ้าอากาศ กระบวนการผลิต เพราะตรงนี้ถือเป็นหัวใจของการทำนาที่ชาวนาต้องรู้ เพื่อที่จะสามารถผลิตข้าวได้อย่างมีคุณภาพและปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาดภายนอก โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดของจีน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาจีนมีการเปลี่ยนแปลงที่สูง ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจีนก็เป็นตลาดใหญ่ของข้าวไทยในเรื่องข้าวคุณภาพดี
ข้าว จึงจะเป็น success story และประเทศไทยจะสามารถรักษาฐานความเป็นผู้นำข้าวในตลาดโลกไว้ได้
source: cpthailand.com/รวมคอลมน/tabid/129/articleType/ArticleView/articleId/122/-----.aspx