คุณวิโรจน์ เกิดแก้ว เกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเมลอนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกเมลอนเพื่อส่งขาย โดยคุณวิโรจน์ได้เล่าถึงที่มา ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ในการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ให้ฟังว่า
“เป็นเกษตรกรมาตั้งแต่แรก ก่อนหน้านี้ทำนา แต่หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อปี 2557 ก็หยุดทำนาเพราะราคาข้าวไม่ดี ก่อนหน้าเคยปลูกเป็นอาชีพเสริมมาก่อน คือทำนอกโรงเรือน หลังเจอปัญหาจึงตัดสินใจเดินหน้าทำเต็มตัวหลังจากเลิกทำนา ที่เลือกทำเมลอนเพราะว่าพอมีความเข้าใจวิธีปลูกอยู่บ้าง ไม่ถึงกับเป็นการเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ อีกทั้งในตลาดก็มีราคาดีและคงตัว ขอให้มีผลผลิตออกมา ไม่ต้องกังวลเรื่องราคา ซึ่งแตกต่างกับตอนที่ปลูกข้าว ซึ่งราคาข้าวไม่แน่นอน ตัดสินใจเลือกปลูกเมลอนด้วยเหตุผลสำคัญคือเรื่องราคา”
ก่อนหน้านี้คุณวิโรจน์ใช้วิธีปลูกกลางแจ้ง ไม่มีโรงเรือน แต่สู้กับปัญหาแมลงและสารเคมีไม่ไหว เพราะการปลูกกลางแจ้งนั้นต้องพ่นสารเคมีตลอด เนื่องจากเมลอนเป็นที่ชื่นชอบของแมลงเพราะต้นมีกลิ่นหอม อีกทั้งการใช้สารเคมีเยอะนั้นยังส่งผลเสียกับทั้งตัวเองและผู้บริโภค คุณวิโรจน์จึงใช้วิธีสร้างโรงเรือน ปลูกในมุ้ง ซึ่งสามารถแก้ปัญหาในเรื่องของแมลงรบกวนได้ โดยมีโรงเรือนทั้งหมด 15 โรงเรือน เฉลี่ยเมลอน 700 ต้นต่อหนึ่งโรงเรือน สร้างผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก
“โดยในการลงทุนสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกเมลอนอย่างเต็มตัวนั้นได้เงินทุนจากการกู้ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงพอสมควรอยู่ที่ล้านกว่า ๆ จนเกือบสองล้าน เป็นการลงทุนให้พร้อมทั้งหมด ประกอบไปด้วยโรงเรือน เมล็ดพันธุ์ และอุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็นในเรื่องของระบบน้ำ
สำหรับเมลอนที่ปลูกนี้เป็นพันธุ์บิวตี้ 115 ข้างในจะเป็นสีเขียว และบิวตี้ 128 เป็นสีส้ม ที่เลือกปลูก 2 พันธุ์นี้เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด เนื้อแน่น กลิ่นหอม รสชาติดี ต่างจากพันธุ์อื่นที่จะค่อนข้างนิ่ม 2 พันธุ์นี้จะมีความกรอบ รสชาติถูกปากคนไทย โดยตลาดที่ส่งเป็นหลักก็คือ ท็อป ซูเปอร์มาเก็ต โดยทุกสัปดาห์วันศุกร์ ในกลุ่มวิสาหกิจฯ ของเราจะรวบรวมผลผลิตมาส่งจำนวนมาก โดยในกลุ่มที่มีประมาณ 10 ราย จะหมุนเวียนกันไปในจำนวนที่ส่ง โดยฟาร์มของเราเองหมุนเวียนส่งต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 6-7 ตัน รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท สัดส่วนกำไรสูงถึงประมาณ 50-60% เพราะต้นทุนหลังหักค่าแรงคนงาน ค่าปุ๋ย ค่ายา จะอยู่แค่เพียง 25 บาทต่อ 1 ต้น” คุณวิโรจน์กล่าว
ส่วนวิธีการจัดการสวนนั้น คุณวิโรจน์อธิบายว่า“เริ่มจากไถ เตรียมดิน บำรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ไม่เน้นปุ๋ยเคมี จากนั้นจึงนำเมล็ดมาเพาะ ใช้เวลา 7-8 วัน ก็จะได้ต้นอ่อนที่พร้อมลงดิน เมื่อนำต้นอ่อนลงดินแล้วก็ดูแลให้ปุ๋ยให้น้ำตามปกติจนครบ 3 สัปดาห์ ต้นจะแข็งแรงออกดอกพร้อมผสม วิธีการผสมคือการนำเกสรของตัวผู้มาแต้มที่เกสรของตัวเมีย โดยผสมต้นละ 3 ดอก จากนั้นก็รอประมาณหนึ่งสัปดาห์ให้ดอกกลายเป็นลูก และเลือกเอาลูกที่ดีที่สุดแค่เพียงลูกเดียว ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญต้องพิจารณาเลือกลูกที่ดีสุด หากเลือกพลาดได้ลูกที่ไม่แข็งแรงต้นนั้นก็จะไม่ได้ผลผลิต เมื่อได้ลูกที่แข็งแรงที่สุดแล้วก็นับวันตั้งแต่เริ่มผสมเกสรประมาณ 45 วัน ก็จะได้เมลอนที่โตเต็มที่พร้อมตัดจำหน่าย
โดยเมลอนที่ได้จะมีขนาดต่างกันไป โดยขนาดใหญ่เกรด A จะมีน้ำหนัก 1.2 กิโลกรัมขึ้นไป เราก็จะส่งเจ้าใหญ่คือ ท็อป ซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งรับซื้ออยู่ที่ 85 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเกรด B ที่ขนาดรองลงมานั้นก็จะนำมาขายปลีกให้ผู้ที่มารับซื้อหรือเราจะไปออกงานเร่ขายเอง ซึ่งราคาก็จะอยู่ที่ 50-100 บาทต่อลูก”
ส่วนปัญหาที่คุณวิโรจน์พบเจอในการปลูกเมลอนนั้นก็มีในเรื่องโรคพืช รากเน่า โคนเน่า ที่ต้องหมั่นดูแล และเมลอนเป็นผลไม้ที่ชอบอากาศที่ไม่ร้อนและหนาวจนเกินไป อย่างในช่วงฤดูกาลปลายฝนต้นหนาวจะเป็นช่วงที่เมลอนเติบโตและให้ผลผลิตดีที่สุด ร้อนจัดต้นจะตาย หากหนาวเกินลูกจะเล็ก ให้น้ำมากไปก็ตาย หากปกติให้น้ำอยู่แค่ไหนต้องเท่าเดิมสม่ำเสมอ ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนและความเอาใส่ใจเป็นอย่างมากในการดูแล
สุดท้ายในเรื่องแนวทางการพัฒนา ตลอดจนคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจ “ในอนาคตนั้นมองว่าอยากลองปลูกตัวอื่น ซึ่งในปัจจุบันคนเริ่มหันมาปลูกเมลอนกันมากขึ้น มีคู่แข่งเยอะ ในอนาคตไม่แน่นอนหากตลาดไม่เป็นอย่างวันนี้จะได้มีช่องทางไปต่อได้ ไม่ได้เลิก เพียงแต่ขยายและศึกษาพืชทางเศรษฐกิจตัวอื่นไว้ด้วย โดยตอนนี้สนใจอยู่ที่ต้นมะเดื่อฝรั่งซึ่งกำลังเริ่มทดลองปลูก เป็นการวางแผนในระยะยาวเพื่อให้ระบบเกษตรกรรมที่ทำอยู่สามารถยั่งยืนได้ในอนาคต และในส่วนของผู้ที่สนใจ ก็แนะนำว่าสามารถทดลองปลูกดูได้ เพราะวิธีการและขั้นตอนไม่ซับซ้อนหรือยากจนเกินไป ที่สำคัญคือต้องหาตลาด ตัวเมลอนตลาดสำคัญที่สุด เพราะเจ้าตลาดเดิมนั้นค่อนข้างยึดจะพื้นที่ส่วนแบ่งไว้หมดแล้ว ผู้มาใหม่รายเล็กต้องหาวิธีเจาะเข้าไปให้ได้” คุณวิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษา Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้านทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สายด่วน 1333
source: bangkokbanksme.com/article/8122