data-ad-format="autorelaxed">
ยึดที่ ส.ป.ก
ถือครองที่ส.ป.ก.สะท้าน เตรียมประกาศล็อต 3 ใช้ม.44 ยึดคืนที่แปลงใหญ่อีกกว่า 1.5 พันแปลง รวมเนื้อที่กว่า 1.6 แสนไร่แฉภาพลวงตาแบ่งแยกไม่เกิน 500 ไร่ แต่ตรวจพบนายทุนรายเดียวยึดไว้นับพันไร่ ตั้ง 2 ทีมเร่งตรวจซํ้าผลสรุประดับจังหวัดเพื่อชี้ขาดสถานะที่ดินเป้าหมายทั้ง 431 แปลงภายในก.ย.นี้ เผยทวงคืนแผ่นดินแล้ว 1.29 แสนไร่ แต่สารพัดเทคนิคนายทุนยังยื้อเกม
ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาการเข้าครอบครองที่ส.ป.ก.แปลงใหญ่ 3 กลุ่มคือ 1.ครอบครองที่ส.ป.ก. 500 ไร่ขึ้นไป 2. ที่ส.ป.ก.100 ไร่ขึ้นไปที่สิ้นสิทธิเนื่องจากผิดเงื่อนไขมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ และ3.ที่ส.ป.ก.500ไร่ขึ้นไปที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ได้เดินหน้าตามขั้นตอนเป็นลำดับ เพื่อให้บรรลุภารกิจตามแผนปฏิบัติการ 129 วัน นั้น
สะท้านชุด3ทวงเพิ่ม1.6แสนไร่
นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ส.ป.ก.ได้เข้าปักป้ายชี้พื้นที่เป้าหมาย แปลงที่ดินที่มีผู้ครอบครองที่ดินส.ป.ก. เกินกว่า 500 ไร่ รวมทั้งสิ้น 431 แปลง เนื้อที่ 4.37 แสนไร่ ใน 27 จังหวัด ครบถ้วนทั้งหมดแล้ว โดยล่าสุดถึงวันที่ 15 กันยายนนี้ ครบกำหนดระยะเวลาการยื่นคัดค้านของผู้ครอบครองที่ดินแล้ว ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินฯจังหวัด(คปจ.) จะทยอยสรุปผล และส.ป.ก.จะเร่งพิจารณาหลักฐานที่ผู้ที่ยังอ้างสิทธิในที่ดินเพื่อมีคำสั่งต่อไป
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตรวจสอบที่เกิดขึ้น พบข้อเท็จจริงว่า มีผู้ครอบครองที่ส.ป.ก.บางราย มีขนาดที่ดินต่อแปลงไม่เกิน 500 ไร่ แต่ครอบครองหลายแปลง รวมกันมีเนื้อที่ครอบครองเกิน 500 ไร่ จึงหลุดรอดจากการชี้ว่าเป็นแปลงเป้าหมาย ที่จะใช้อำนาจตามม.44 ในคำสั่งดังกล่าวเพื่อยึดคืน ในประกาศชุดที่ 1 และ 2 ส.ป.ก.ได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งประเทศอีกครั้ง พบว่ามีอีกทั้งสิ้น 1,578 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 1.6 แสนไร่ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์เป็นการเข้ายึดครองที่ส.ป.ก.แปลงใหญ่เกิน 500 ไร่เช่นกัน
“ผมมีเวลาเป็นวันราชการอีก 10 วันก่อน จะครบเกษียณในปลายเดือนกันยายนนี้ กำลังหาฤกษ์อยู่ว่าจะประกาศวันไหน แต่จะประกาศแน่ก่อนพ้นหน้าที่ เพื่อจะได้ดำเนินการเรียกที่ส.ป.ก.คืนมาตามกระบวนที่คำสั่งคสช.ที่ 36/2559 ได้ให้ไว้ โดยครั้งนี้จะเป็นการประกาศเพิ่มชุดที่ 3 กระจายอยู่หลายจังหวัดเกือบทั่วประเทศ มากกว่าชุดที่ 1 และ 2 ที่มีอยู่ใน 27 จังหวัด”
ได้คืนแล้ว 1.29 แสนไร่
เลขาธิการ ส.ป.ก.เผยอีกว่า สำหรับผลการดำเนินการทวงคืนที่ส.ป.ก.แปลงใหญ่ ที่ได้ปักป้ายที่เป้าหมายในประกาศชุดแรก 424 แปลงตามที่ส.ป.ก.ได้มีฐานข้อมูลอยู่ก่อน เมื่อประกาศชุดแรกไป ต่อมาเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แจ้งขอเพิ่มเข้ามา 7 แปลง จึงประกาศเพิ่มเติมเป็นชุดที่ 2 รวมมีพื้นที่เป้าหมายที่ดำเนินการ 431 แปลง เนื้อที่ 4.37 แสนไร่ ใน 27 จังหวัด ที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปปักป้ายครบถ้วนหมดแล้ว กระทั่งล่าสุดเมื่อ 15 ก.ย.นี้มีผลการตรวจสอบเบื้องต้น สรุปได้ว่า
ส.ป.ก.สามารถยึดคืนที่ดินโดยเป็นที่ดินที่ไม่มีผู้แสดงตนคัดค้าน จำนวน 292 แปลง เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1.291 แสนไร่ ทั้งนี้ส.ป.ก.จะต้องไปดำเนินการปักป้ายเพื่อทำการยึดที่ดินดังกล่าวคืนต่อไป ซึ่งในขั้นตอนนั้นอาจมีการยื่นคัดค้านเข้ามาอีก โดยอาศัยโฉนดที่ดินหรือน.ส.3 ซึ่งอาจทำให้เนื้อที่ดินอาจลดลงอีกบ้างเล็ก
ในจำนวนนี้เป็นแปลงที่ดินที่ไม่มีผู้ใดคัดค้านทั้งแปลง จากเดิมมี 28 แปลง คงเหลือจำนวน 24 แปลง เนื้อที่ 2.057 หมื่นไร่ เนื่องจากเมื่อส.ป.ก.เข้าไปปักป้ายยึด มีผู้ออกมายื่นคำคัดค้านโดยใช้โฉนดที่ดิน น.ส.3 รวมถึงบางแปลงยื่นเอกสารส.ป.ก.4-01 เอง เนื่องจากในพื้นที่ได้เข้ารังวัดแบ่งแยกที่ดินและจัดสรรให้เกษตรกรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้แจ้งแก้ไขมายังฐานข้อมูลส่วนกลาง จึงยังปรากฏเป็นแปลงเป้าหมายอยู่ รวมแล้วทำให้เนื้อที่ส.ป.ก.ที่จะเรียกคืนลดลงประมาณ 7 พันไร่ อีกส่วนเป็นแปลงที่ดินที่มีผู้คัดค้านบางส่วนของแปลง มีจำนวน 268 แปลง เนื้อที่ 7.227 หมื่นไร่ เมื่อเข้ารังวัดเพื่อแยกส่วนที่ดินที่ไม่มีผู้คัดค้านออกแล้ว ได้เนื้อที่ส่วนที่ไม่มีผู้คัดค้านเพิ่มขึ้นเป็น 9.9 หมื่นไร่
ทั้งนี้ แปลงที่ดินส.ป.ก.ที่ยึดคืนมาได้ หากเป็นแปลงขนาดใหญ่เกิน 300 ไร่ขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 130 แปลง เนื้อที่ 1.01 แสนไร่ ส.ป.ก.จะส่งมอบที่ดินเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ไปดำเนินการเพื่อจัดเกษตรกรเข้าทำกิน ในรูปแบบสหกรณ์ต่อไป
“ส่วนแปลงที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 300 ไร่ ซึ่งมีอยู่ 162 แปลง เนื้อที่ 1.83 หมื่นไร่ หรือเฉลี่ยแปลงละ 100 ไร่เศษ ในส่วนนี้ส.ป.ก.จะหารือกับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอนำมาจัดสรรเองและออกส.ป.ก.4-01 ให้เกษตรกร ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการปกติของส.ป.ก. เพราะเป็นพื้นที่แปลงเล็ก จัดให้เกษตรได้ไม่กี่รายต่อแปลง มีจำนวนน้อยรายจนไม่พอจะตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรได้”
ขีดเส้น15วันฟันธงยึด-ปล่อย
ส่วนแปลงที่มีผู้ยื่นคัดค้านที่ต้องนำเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.ในพื้นที่ตรวจสอบนั้น นายสรรเสริญกล่าวอีกว่า ครบกำหนดการยื่นคัดค้านทั้งหมดแล้วภายในวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่คือคปจ.จังหวัดจะเป็นผู้พิจารณา โดยได้วางหลักปฏิบัติเพื่อเป็นการถ่วงดุล โดยหากเห็นว่าให้ยึดเนื่องจากหลักฐานรับฟังไม่ได้ให้ดำเนินการได้เลย แต่หากพื้นที่เห็นว่าควรปล่อย ต้องส่งเรื่องแนวเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นให้ส่วนกลางเป็นผู้กลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง
“ผมได้ตั้งคณะทำงานในส่วนกลางขึ้นมา 2 ชุด เพื่อรอรับเรื่องจากพื้นที่ที่จะทยอยส่งความเห็นเข้ามา เพื่อให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สั่งซื้อแผนที่ทางอากาศแปลงที่ดินที่มีผู้ยื่นคัดค้านเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว โดยให้นโยบายให้ตรวจสอบและสรุปความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อผมจะได้สั่งเรื่องได้ว่าที่แปลงไหนจะยึดแปลงไหนจะปล่อยภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ให้หมดทุกแปลง เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระสำหรับเลขาธิการส.ป.ก.คนใหม่ ที่จะมารับหน้าที่ต่อ เพราะถ้าไม่เสร็จต้องมาเสียเวลาศึกษารายละเอียดของเรื่องกันใหม่อีกรอบ”
ทั้งนี้ เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวว่า ในการตรวจสอบแปลงที่มีผู้แสดงตัวคัดค้านจำนวน 403 แปลงนั้น มีทั้งคัดค้านโดยแสดงเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดิน หรือน.ส.3 ตรวจสอบแล้วพบว่าถูกต้อง รวมเนื้อที่ประมาณ 1.11 แสนไร่ มีที่ฟังไม่ขึ้นเป็นเนื้อที่ประมาณ 8 พันไร่ เนื่องจากเป็นเอกสารที่กรมที่ดินไม่รับรองความถูกต้อง อีกส่วนยื่นคัดค้านด้วยเอกสารใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือภ.บ.ท.5 ที่ชาวบ้านเสียให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่นั้น ๆ เป็นรายปี พบว่าฟังขึ้นประมาณกว่า 7 พันราย เนื้อที่กว่าแสนไร่เช่นกัน
“ในกรณีที่แปลงใหญ่และมีผู้ร้องคัดค้านจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะปูเอกสารของผู้ร้องคัดค้านแต่ละรายลงในแปลงที่ดิน เพื่อดูว่ามีความต่อเนื่องสัมพันธ์กันถูกต้องหรือไม่ โดยหากเป็นรายย่อยเข้าไปทำกินและถือครองที่ไม่เกินที่ส.ป.ก.กำหนด จะให้ทำกินต่อแต่จะเข้าไปจัดให้เข้าระบบของส.ป.ก.ต่อไป โดยแบ่งแปลงและให้ส.ป.ก.4-01”
ชี้สารพัดเทคนิคนายทุน
นายสรรเสริญกล่าวอีกว่า ในภาพรวมการเรียกคืนที่ส.ป.ก.แปลงใหญ่ในเขตจังหวัดนครราชสีมานั้น ผู้ถือครองรายใหญ่ และส่วนใหญ่มีคำพิพากษาศาลถึงที่สุดไปแล้ว ไม่มีใครต่อสู้ต่อแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีพล.ต.ต.ชาลี เภกะนันทน์ นายชูเกียรติ ตั้งพงษ์ปราชญ์ หรือของพล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อยู่ระหว่างประสานงานขอยึดเวลาเพื่อรื้อถอน และมีอาคารบางส่วนที่ส.ป.ก.ขอไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อ เช่น เพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน รวมทั้งกรณีนายกำพล ตันสัจจา ส่วนแปลงใหญ่อื่น ๆ มีผู้ร้องคัดค้านจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และที่ไม่ยอมให้ส.ป.ก.เข้ารังวัดเพราะอยากขอออกเอกสารสิทธิ์จากกรมที่ดินมากกว่า
ส่วนกรณีทวงคืนที่ส.ป.ก.แปลงใหญ่จากสวนส้มที่จังหวัดเชียงใหม่ คือ สวนส้มธนาธร และสวนส้มบริษัท เชียงใหม่มิตรเกษตร จำกัด นั้น มีทั้งรายที่ยอมรับว่าซื้อที่ส.ป.ก.ต่อมาจากเกษตรกรรายย่อย และที่ต่อสู้ว่าพื้นที่สวนส้มไม่ใช่ของบริษัท แต่เป็นของเกษตรกรหลายราย ซึ่งเมื่อให้นำเอกสารมาแสดงและซักถามรายละเอียดก็พบข้อพิรุธ โดยผู้อ้างตัวเป็นเกษตรกรล้วนเป็นคนงานรับจ้างบริษัททั้งหมด ครั้งแรกให้ชี้แนวเขตก็สะเปะสะปะไม่ตรงกัน พอเรียกสอบครั้งที่ 2 ชี้แนวเขตที่ดินเฉลี่ยเท่ากันเป๊ะเป็นตารางหมากรุกเต็มแปลง ซึ่งผิดข้อเท็จจริงของการแผ้วถางถือครองที่ของเกษตรกรรายย่อย และเมื่อสอบถามความสัมพันธ์ก็พบว่าไม่รู้จักกัน ต่างคนต่างมาจากภูมิลำเนาต่าง ๆ ซึ่งคปจ.เชียงใหม่ใช้อำนาจวินิจฉัยว่าฟังไม่ขึ้นไปแล้วเมื่อ 11 กันยายน และให้ยึดคืนต่อไป
“วิทยา”ผ่าครึ่งหนีส.ป.ก.500ไร่
ส่วนกรณีที่ดินนายวิทยา เทียนทอง ที่จังหวัดสระแก้ว เนื้อที่ 600 กว่าไร่นั้น ปฎิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว เสนอเรื่องให้ยกเลิกการตรวจสอบ เนื่องจากผู้คัดค้านแสดงเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่(ภ.บ.ท.5) ระบุถือครองที่เพียง 300 ไร่ ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะใช้อำนาจตามม.44 ยึดคืนมา จึงได้ให้กลับไปตรวจสอบเบื้องต้นจังหวัดรายงานมาว่า ได้มีการยื่นขอแบ่งแปลงที่ดินกับญาติเป็น 2 คน ถือครองที่ดินคนละ 300 กว่าไร่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงดังกล่าวนายวิทยาอยู่ระหว่างต้องโทษ และให้ไปดูว่าเป็นทำเอกสารย้อนหลังหรือไม่ ให้ตรวจสอบมาให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อจะได้สั่งต่อไปว่าให้ยึดหรือปล่อย
“ถ้าจะแบ่งที่เพื่อหนีเกณฑ์ 500 ไร่ แสดงว่าเขาต้องการยื้อเรื่องเพื่อให้ส.ป.ก.ฟ้องร้องคดีในทางศาลยุติธรรม ซึ่งตามกระบวนการต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะถึงที่สุด อย่างน้อยก็ประวิงเวลาไว้เพื่อปลูกยูคาลิปตัสไปได้อีก 2 รอบ”
“ไมด้า”ดิ้นสุดขีด
ส่วนแปลงที่ตั้งสนามกอล์ฟ ไมด้า กอล์ฟ คลับ กาญจนบุรี ที่ส.ป.ก.ปักป้ายทวงคืนเนื้อที่ 1,739 ไร่ นั้น นายวัชรินทร์ วากะมะนนท์ ปฏิรูปที่ดิน(ส.ป.ก.)กาญจนบุรี เปิดเผยสื่อมวลชนว่า ผู้ร้องคัดค้านได้นำเอกสารยื่นแสดงการครอบครองที่ดิน ประกอบด้วย น.ส.3ก 514 แปลง น.ส.3 ข จำนวน 40 แปลง และใบเสียภาษีบำรุงท้องที่(ภ.บ.ท.5) 7 แปลง รวมเนื้อที่ตามเอกสาร 1,100 ไร่เศษ มีเนื้อที่ส.ป.ก.ที่จะยึดคืนได้เนื่องจากไม่มีการคัดค้าน 616 ไร่เศษ แต่ถ้ารวมเนื้อที่ตามภ.บ.ท.5 อีก 282 ไร่ ที่นำมาแสดง ที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าฟังไม่ขึ้น จะเป็นเนื้อที่ยึดคืนรวม 898 ไร่เศษ
กรณีที่สนามกอล์ฟไมด้านี้ เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวว่า ผู้บริหารยื่นคัดค้านและแบ่งแยกที่เป็นกลุ่ม ๆ นอกจากที่ตามน.ส. 3 ก 660 ไร่ น.ส.3 ข 320 ไร่ ภ.บ.ท.5 จำนวน 401 ไร่ โดยในการเดินสำรวจชี้แนวที่ดินบอกว่ามีที่ส.ป.ก.รอบ ๆ เขตสนามกอล์ฟ แต่เป็นของชาวบ้าน 100 กว่าไร่ แล้วยังบอกว่ามีอีกบางส่วนที่จัดเป็นแปลงแปลงละ 2 งาน ตัดแบ่งให้เมมเบอร์สนามกอล์ฟไปแล้ว อ้างว่าที่ส.ป.ก.มีไม่ถึง 500 ไร่
จึงสั่งการให้พื้นที่ไปตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้ง ว่าที่ส.ป.ก.11 ราย 12 แปลง เนื้อที่ 177 ไร่เศษ ที่ได้จัดสิทธิให้ไปตั้งแต่ปี 2533 แต่ภายหลังไม่ปรากฏว่าเข้าทำประโยชน์นั้น ยังเป็นที่ส.ป.ก.ของเกษตรกรอยู่หรือไม่ หรือขายให้บุคคลอื่นไปแล้ว ซึ่งขอยืนยันว่า ส.ป.ก.มีวิธีตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและหาข้อยุติต่อไป
source: thansettakij.com/2016/09/20/99124