data-ad-format="autorelaxed">
ครีเอทีฟไทยแลนด์
จากที่ประเทศไทยกำลังเร่งสปีด สู่ “ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจาก 3 กับดับที่กำลังเผชิญและท้าทายอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย กับดักความเหลื่อมล้ำ กับดักความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม และกับดักประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางมาเนิ่นนาน ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักทั้ง 3 ประการ คือการขับเคลื่อนสู่ประเทศโดยใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นตัวนำ ล่าสุด “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ดูแลและสานต่อในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ในห้วงเวลาสั้น ๆ สรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
ส่งออกไทยแกร่งแต่น่าห่วง
“ดร.สุวิทย์”ได้ฉายภาพว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่(New normal) อันเนื่องมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่หลายประเทศยังขยายตัวไม่สูงเหมือนในอดีต ส่วนเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเวลานี้ถือว่าฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ รวมไปถึงกิจกรรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
“เวลานี้ภาคธุรกิจไทยได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการส่งออกบริการที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกไทยยังมีสถานการณ์ที่ดี แม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2558) ต่อเนื่องถึง 7 เดือนแรกของปีนี้ตัวเลขการส่งออกของไทยยังติดลบต่อเนื่อง แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าสินค้าไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาดในตลาดสำคัญๆ เอาไว้ได้”
ไทยแลนด์ 4.0 พลิกโฉมศก.
ในส่วนของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ไปสู่ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมใน 3 มิติ คือ 1. เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยเปลี่ยนจากเอสเอ็มอีที่รัฐให้การสนับสนุนเป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสูง รวมทั้งเปลี่ยนจากแรงงานที่ทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ และ3.เปลี่ยนจากภาคผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น
รัฐเน้น5 กลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้รัฐบาลได้เน้นพัฒนา 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วยกลุ่มอาหาร เกษตร ที่จะพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีชีวภาพ ,กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ พัฒนาไปสู่เทคโนโลยีทางการแพทย์ ,กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ พัฒนาไปสู่ระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม ,กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ พัฒนาไปสู่เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวและกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่มีวัฒนธรรมและพัฒนาไปสู่บริการที่มีมูลค่าสูง
“เมื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายมีความแข็งแรงแล้ว ผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีจะนำนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนหรือที่เรียกว่า Innovation Driven Enterprise ซึ่งเมื่อรวมกับความรู้และความคิดสร้างสรรค์ เอสเอ็มอีรายเล็กจะขยายเป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพหรือเป็นสตาร์ตอัพ นำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีการเกษตร อาหาร สุขภาพ หุ่นยนต์ การท่องเที่ยว และออกแบบ”
สานต่อศก.สร้างสรรค์
ในส่วนของเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นเรื่องที่มีการพูดกันมานานและหลายประเทศในโลกต่างพยายามขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เช่นเกาหลีใต้มีการนำเรื่องเศรษฐกิจหรือนวัตกรรมสร้างสรรค์มาใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างสร้างสรรค์ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า แต่วันนี้เรื่องครีเอทีฟอีโคโนมีในเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์การแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น
“ส่วนของไทยเองไม่ใช่เรื่องใหม่ที่รัฐบาลจะหันมาใช้ครีเอทีฟในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพราะไทยเองมีความพยายามในการผลักดันครีเอทีฟอีโคโนมีมาเป็น 10 ปี แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานต่างๆไม่มีความต่อเนื่อง จากการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หน่วยงานที่รับผิดชอบต่างคนต่างทำไม่ได้เชื่อมประสานกัน ดังนั้นในฐานะที่ผมได้รับมอบหมายจากดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้ดูแลในเรื่องนี้ ก็จะเร่งผลักดันสิ่งที่ไทยมีจุดเด่นขึ้นมาพัฒนาต่อยอด”
เตรียมเปิดตัวปลายปีนี้
โดยเบื้องต้นจะมีคอนเซปต์ที่จะดำเนินการ คือเริ่มต้นที่คนว่าเราจะสร้างคนอย่างไร หลังจากจากนั้นดูในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมการสร้างศูนย์กลางของชุมชุนโดยดึงเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ ออกมา เช่นการผลักดันให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นศูนย์กลางสปอตคลับ เป็นต้น และคอนเซปต์สุดท้ายคือ การผลักดันด้านการลงทุน สินค้า และบริการ อะไรที่เป็นเรื่องของดีไซน์ก็จะนำมาต่อยอด ซึ่ง 3 ส่วนคือคน สถานที่ และการลงทุน ผนึกกำลังกันเรียกว่า “ครีเอทีฟไทยแลนด์”ซึ่งจะเป็นโปรแกรมที่จะล้อนช์กิจกรรม ตลอดจนรายละเอียดที่จะดำเนินการออกมาประมาณปลายปีนี้
“ครีเอทีฟไทยแลนด์จะเป็นการดึงจุดแข็งของไทยออกมาเป็นจุดขาย เช่น1. มวยไทยซึ่งทั่วโลกรู้จักจะทำอย่างไรที่จะดึงจุดแข็งตรงนี้มาใช้ 2. เทศกาลต่างๆจะทำอย่างไรให้ยิ่งใหญ่ระดับโลก เพราะไทยเองมีเทศกาลต่างๆ มากมาย และยังสามารถเชื่อมกับอาเซียนได้เพราะมีวัฒนธรรมคล้าย ๆ กัน 3.อาหาร ตั้งแต่อาหารวัฒนธรรมไปจนไปถึงอาหารไฮเทค ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย 4.เรื่องของแฟชั่นต่าง ๆ เช่นเสื้อผ้า อัญมณีเครื่องประดับที่ไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และ 5. ภาพยนตร์ เกม รวมเรียกว่า “คอนเซปต์ 5F” ที่จะเปิดแผนการดำเนินงานในช่วงการเปิดตัวในงาน Thailand Innovation and Design Expo 2016′ หรือ T.I.D.E. 2016 ที่จะจัดในวันที่ 17 – 18 กันยายน นี้”
ดร.สุวิทย์ ระบุว่า ในแผนระยะกลาง 3 ปี 5 ปี ครีเอทีฟไทยแลนด์จะต้องติด 1 ใน 5 ของครีเอทีฟโลกของโลกเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ติดครีเอทีฟโลกตามที่ประกาศไว้เมื่อ10ปีก่อน
เล็งต่อยอดเชื่อมอาเซียน
เรื่องครีเอทีฟไทยแลนด์นี้ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ในอาเซียนจะต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจในประเทศสู่ระดับภูมิภาคซึ่งจะเป็นครีเอทีฟอาเซียนในภาพใหญ่ที่รัฐบาลกำลังผลักดันผ่านการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล ธุรกิจกับธุรกิจ และประชาชนกับประชาชน ผ่านนโยบายยุทธ์ศาสตร์ความร่วมมือระหว่างกัน ( strategic partnership) กับประเทศเป้าหมายที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์
หวังเห็นผลใน3-5 ปี
ขณะเดียวกันเป้าหมายของการดำเนินงานตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือการขับเคลื่อน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายในระยะเวลา 3 – 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการเปลี่ยนปัญหาและความท้าทายให้เป็นศักยภาพและโอกาส เมื่อประเทศไปสู่ 4.0 เต็มรูปแบบ รูปธรรมที่จะเห็นได้อย่างเด่นชัด คือ รายได้ต่อหัวของประชากรจะเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำต่างๆ จะลดลง ประเทศจะมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
source: thansettakij.com/2016/09/14/96331