data-ad-format="autorelaxed">
โรคใบขอบแห้ง
ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูฝน อากาศมีความชื้นสูง ลมพัดแรง กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งเตือนชาวนาทั่วประเทศ...ให้ระวังโรคขอบใบแห้งระบาด เป็นได้ตั้งแต่ระยะกล้า แตกกอ จนถึงออกรวง พบมากในพื้นที่นาน้ำฝน นาชลประทานภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
ระยะต้นกล้า ก่อนนำไปปักดำจะมีจุดเล็กๆ ช้ำที่ขอบใบของใบล่าง ต่อมา 7-10 วัน จุดช้ำจะขยายกลายเป็นสีเหลืองยาวตามใบข้าว ใบที่เป็นโรคจะแห้ง สีเขียวจะจางลงเป็นสีเทาๆ
อาการในระยะหลังปักดำแล้วหนึ่งเดือนถึงเดือนครึ่ง ขอบใบจะมีรอยขีดช้ำ ต่อมาจะกลายเป็นสีเหลือง ที่แผลมีหยดน้ำสีครีมคล้ายยางสน เท่าหัวเข็มหมุดแล้วจะกลายเป็นสีน้ำตาล และหลุดไปตามน้ำฝน ทำให้โรคแพร่ระบาดในวงกว้าง และแผลจะขยายออกไป ขอบแผลมีลักษณะลายหยัก เมื่อนานไปจะเปลี่ยนเป็นสีเทา ใบจะแห้งและม้วนตามความยาว
ในกรณีที่ต้นข้าวอ่อนแอต่อโรคและเชื้อโรค มีปริมาณมากจะทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวจะเหี่ยวเฉาและแห้งตายทั้งต้นอย่างรวดเร็ว
วิธีการป้องกันกำจัด กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้ใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี 60, สุพรรณบุรี 90, สุพรรณบุรี 1, สุพรรณบุรี 2, กข 7, กข 23 เป็นต้น ในนาที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป และไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น
ถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105, กข 6, เหนียวสันป่าตอง, พิษณุโลก 2 และชัยนาท 1....เกษตรกรหมั่นตรวจแปลง เฝ้าระวังการเกิดโรค
สำหรับการใช้สารป้องกันกำจัด มีให้เลือกตั้งแต่ แบคบิเคียว, ไอโซโพรไทโอเลน, คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์, เสตร็พโตมัยซินซัลเฟต+ออกซีเตทตราไซคลินไฮโครคลอไรด์, ไตรเบซิคคอปเปอร์ซัลเฟต ควรพ่นตั้งแต่พบอาการในระยะเริ่มแรก ในอัตราตามที่ฉลากแนะนำ
ส่วนสารชีวภัณฑ์ ที่นำมาใช้ได้ เช่น Bacillus amyloliquefaciens, Bacillus subtills หรือ Pseudomonas fluorescens หากพบอาการของโรครุนแรงให้พ่นทุก 7 วัน หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนปลูก.
source: thairath.co.th/content/721035