data-ad-format="autorelaxed">
สินค้าเกษตรส่งออก
จากการสำรวจการส่งออกสินค้าเกษตรในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม) พบว่า ยอดส่งออกข้าวมีปริมาณ 5,438,899 ตัน เพิ่มขึ้น 4.7% มูลค่า 2,428 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.7% คิดเป็นสัดส่วน 2% ของการส่งออกทั้งหมด มันสำปะหลัง 6,598,813 ตัน ลดลง 16% มูลค่า 1,743 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 24.4% คิดเป็นสัดส่วน 1.4% ของการส่งออก และยอดส่งออกยางพารา 2,079,099 ตัน เพิ่มขึ้น 1.3% มูลค่า 2,394 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19% คิดเป็นสัดส่วน 2% ของยอดส่งออก
ที่น่าสังเกตคือแม้ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่เทียบราคาเฉลี่ยพบว่าราคาลดลง โดยราคาข้าวเฉลี่ย 446 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง 9.7% มันสำปะหลัง 264 เหรียญสหรัฐต่อตัน และยางพารา 1,151 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ร้อยตำรวจโท เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในส่วนของการออกไปขายล่วงหน้าในตลาดต่างประเทศ ผู้ส่งออกต้องเผชิญกับสงครามราคารุนแรง เทียบราคา เอฟโอบีข้าวไทยยังคงอยู่ที่ตันละ 370 เหรียญสหรัฐ ขณะที่เวียดนามตันละ 345-350 เหรียญสหรัฐ ปากีสถานตันละ 330 เหรียญสหรัฐ
ขณะเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนยังผันผวน เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 36 บาท เป็น 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ กระทบการแข่งขัน แต่หากไม่ขายล่วงหน้าไทยจะไม่มีออเดอร์ใหม่รองรับซัพพลายผลผลิตข้าวนาปี 2559/2560 ที่จะออกพร้อมกันเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้
ด้านสถานการณ์ราคายาง จากเดิมมีแข่งขันแค่มาเลเซียกับอินโดนีเซีย ปัจจุบันคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา จีน ประกอบกับพื้นที่ปลูกยางภาคอีสานและเหนือเพิ่มขึ้นมาก จึงคุมกลไกตลาดยากขึ้น ราคาเหวี่ยงขึ้นลงแรง
บวกกับเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ราคาน้ำมันตกต่ำลงช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกำลังซื้อในตลาดประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และกดดันให้ราคายางตกจากกิโลกรัมละ 50-60 บาท เหลือกิโลกรัมละ 30-40 บาทเท่านั้น ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อถุงยางเทียม ที่ต้นทางทำมาจากน้ำมันมากขึ้น โดยเฉพาะยางรถยนต์ ผู้ผลิตสามารถนำยางสังเคราะห์มาทดแทนยางพาราได้เกือบ 100%
นายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาระบุว่า ราคายางที่ปรับขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ และตกต่ำลงในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 50 บาท ไม่ได้ช่วยให้ชาวสวนยางมีรายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ต้องพึ่งกำลังซื้อจากภาคท่องเที่ยวและบริการช่วยพยุง
ด้านสถานการณ์ราคามันสำปะหลัง นายธีระชาติ เสยกระโทก ผู้ประสานงานสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลัง กล่าวว่า ราคามันสำปะหลังช่วงฤดูการผลิต 58/59 ที่ยังเหลืออยู่ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น บุรีรัมย์ หล่นลงไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 1 บาท-1บาท 20 สตางค์ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กิโลกรัมละ 2 บาท 30 สตางค์ แต่ต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 1 บาท 90 สตางค์
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหัวมันสดลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากดีมานด์ความต้องการใช้มันสำปะหลังในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักกว่า 90% ปรับลดลงมาก หลังรัฐบาลจีนมีนโยบายระบายสต๊อกข้าวโพด ทำให้ผู้นำเข้าจีนลดการสั่งซื้อมัน อีกทั้งผู้ส่งออกไทยต้องขายตัดราคากันเอง
ด้านนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าระบุว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตสินค้าเกษตร 7 เดือนแรก ลดลง 0.4% ตามราคาผลผลิตเกษตรที่ลดลง 0.9% ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อเกษตรกรด้วย ต้องติดตามว่าแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่มีปัญหาต่อเนื่องจะกระทบกำลังซื้อเกษตรกรไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงจับจ่ายใช้สอยมากน้อยเพียงใด
source: matichon.co.th/news/274057