กำลังเป็นกระแส “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” สำหรับปัญหาการควบรวม 2 ตลาดล่วงหน้า ระหว่างตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือAFET (เอเฟท) กับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX (ทีเฟกต์)ให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งหากเปรียบกับสุภาษิตไทย ๆ คงเข้ากับคำว่า “ก้นหม้อข้าวยังไม่ทันดำ” เพราะแค่ทดลองควบรวมก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย และอาจจะกลายเป็นมหากาพย์อีกเรื่องหนึ่ง ที่ยังไม่รู้ตอนจบ
ย้อนไปเมื่อปลายปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายรวมศูนย์การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าของประเทศไทย ขณะนั้นมี 2 ตลาด คือ ตลาดเอเฟทซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร และตลาดทีเฟ็กซ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในสินค้าทั่วไปตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยทั้ง 2 ตลาดมีขั้นตอนการซื้อขายที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงเห็นสมควรให้มีการซื้อขายล่วงหน้าภายใต้กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพียงตลาดเดียว อันจะเกิดผลดีต่อประเทศในด้านการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) และเป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้ซื้อ-ผู้ขายที่สามารถทำธุรกรรมได้ในตลาดเดียว อันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าในประเทศไทยให้เกิดความสามารถเชิงแข่งขัน กับตลาดซื้อขายล่วงหน้าอื่นในภูมิภาคได้
จากนโยบายของผู้นำประเทศข้างต้น หน่วยงานต่าง ๆ ได้เดินหน้าปฏิบัติตามนโยบาย โดยฝ่ายกระทรวงการคลัง และตลาดหลักทรัพย์ฯได้ดำเนินการเปิดรับบริษัทนายหน้า (โบรกเกอร์) เดิมในตลาดเอเฟท เข้าเป็นสมาชิกทีเฟ็กซ์ รวมถึงแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบาย ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดเอเฟทมาตั้งแต่ปี 2542 รวมระยะเวลา 16 ปีเศษ ก็ไม่ขัดข้องกับการควบรวมในครั้งนี้ แต่กล่าวย้ำเพียงว่า การซื้อขายสินค้าเกษตรในตลาดทีเฟ็กซ์ จะต้องดำรงเจตนารมณ์ของการจัดตั้งเอเฟท คือเป็นศูนย์กลางการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรของไทย เป็นกลไกในการลดความเสี่ยง ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรต่อไป และในส่วนของผู้ประกอบการที่ดูเหมือนในตอนแรกจะเห็นคล้อยตามกับการควบรวมจะเกิดผลดีต่อภาพรวมและเป็นการยกระดับตลาดยางพาราล่วงหน้าของไทยเทียบเท่าสิงคโปร์และญี่ปุ่น แต่ปรากฏว่าทุกอย่างไม่เป็นดังฝัน
3 ตัวบ่งชี้ความล้มเหลว
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์รายใหญ่ในตลาดเอเฟท ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับตั้งแต่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้มีการเปิดซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดทีเฟ็กซ์ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมาควบคู่กับการซื้อขายแบบคู่ขนานกับตลาดเอเฟท ที่ผ่านมาทางโบรกเกอร์ตลาดเอเฟทไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะมีผลทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้น การแข่งขันกับนายหน้าเดิมในตลาดทีเฟ็กซ์ ที่มีผู้ประกอบการจำนวน 42 รายเป็นไปได้ยากเนื่องจากขนาดของธุรกิจต่างกันมาก ที่สำคัญช่วงที่มีสัญญาคงค้างมากกว่า 2 พันสัญญาได้เสนอการย้ายสถานะถือคงค้างจากเอเฟทข้ามไปทำการซื้อขายต่อโดยอัตโนมัติที่ทีเฟ็กซ์เลย แต่ ก.ล.ต.ไม่เห็นด้วยและไม่ยินยอมกับวิธีดังกล่าว จึงทำให้ขาดความต่อเนื่อง นับว่าเป็นความล้มเหลวในการควบรวม ซึ่งมี 3 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1. ไม่มีการซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดทีเฟ็กซ์เลย 2.ผู้ประกอบการนักลงทุนไม่เข้ามาการทำการซื้อขาย และ 3.บริษัทสมาชิกเดิมในตลาดเอเฟทเหลือเพียง 2 บริษัท และมีอีก 1 บริษัทที่รอการทดสอบระบบอยู่ ผ่านมา 6 เดือนแล้วไม่แน่ใจว่าบริษัทนี้จะเข้ามาหรือไม่
“จุดเริ่มต้นของปัญหา ต้องมองที่ความแตกต่างหรือวัตถุประสงค์การก่อตั้ง ตลาดของเอเฟท เกิดขึ้นจากแนวความคิดเพื่อให้มีศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เป็นกลไกในการประกันความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยมิได้ยึดถือเรื่องกำไรขาดทุนขององค์กรเป็นหลัก จะเห็นได้จากการที่สินค้าบางรายการจะไม่มีการซื้อขายเนื่องจากมีการแทรกแซงราคาในตลาดจริงของภาครัฐ แต่เอเฟทก็ยังคงต้องจัดให้มีสินค้าเหล่านั้นอยู่บนกระดานซื้อขาย อย่างน้อยก็เป็นกลไกให้เกษตรกรมีราคาอ้างอิง ลดการถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง เห็นได้จากที่ผ่านมารัฐบาลต้องใช้งบประมาณปีละ 150-200 ล้านบาทมาโดยตลอด ผ่านกระทรวงพาณิชย์ในการกำกับดูแลเอเฟท”
ขณะที่ทีเฟ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีความแตกต่างด้วยความที่เป็นบริษัทจำกัด จึงต้องคำนึงถึงเรื่องกำไรขาดทุนในการดำเนินงานเป็นสำคัญ การพิจารณาเลือกสินค้าเข้ามาทำการซื้อขายจึงยึดโยงอยู่กับสินค้ากระแสที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นหลัก อาทิ ทองคำหรือน้ำมันดิบ เป็นต้น จะเห็นว่าสินค้าเหล่านี้มีความผันผวนราคาค่อนข้างสูง รวมถึงมีราคาอ้างอิงในตลาดโลกอยู่แล้ว ทำให้นักลงทุนสามารถเข้ามาเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นทั้ง 2 ตลาดจึงมีแนวคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และมองอนาคตหากในตลาดทีเฟ็กซ์ไม่มีการซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในที่สุดจะถูกถอดออกจากกระดานซื้อขายในอนาคตในเร็วนี้อย่างแน่นอนเป็นไปตามกฎกติกาของ ก.ล.ต.
เตรียมหารือว่าที่ปลัดพาณิชย์ใหม่
สำหรับผลกระทบประเทศไทยในฐานะเบอร์ 1 ผู้ส่งออกยางของโลก แต่กลับไม่มีราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ทำให้ต้องใช้ราคาอ้างอิงจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ซื้อยางพารา เช่น ตลาดโตคอม ประเทศญี่ปุ่น ตลาดเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน หรือ ตลาดไซคอม ประเทศสิงคโปร์ ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในด้านการค้ากับประเทศอื่น ดังนั้นในวันที่ 9 กันยายนที่จะถึงนี้ ทางสมาชิกสมาคมนายหน้าซื้อขายล่วงหน้าตลาดเอเฟทจะเดินทางไปแสดงความยินดีกับนางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ว่าที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ เพื่อปรึกษาถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในระยะเปลี่ยนผ่าน หรือผ่อนปรนให้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนในตลาดเอเฟท 22 บริษัทหันกลับซื้อขายในตลาด ตลอดจนเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้ามา เช่น สินค้าข้าว เป็นต้น ส่วนผลการเจรจาหลายฝ่ายไม่แน่ใจว่ากระทรวงพาณิชย์จะช่วยได้แค่ไหน เพราะตามกฎหมายตลาดเอเฟทได้มีการควบรวมและอยู่ภายใต้การบริหารของ ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นต้องติดตามตอนต่อไปว่าจะจบลงอย่างไร
source: thansettakij.com/2016/09/08/94947