data-ad-format="autorelaxed">
ร่าง พ.ร.บ. ข้าวและชาวนา
สมาคมชาวนาดีเดย์ 15 ก.ย.นี้ เคลื่อนพลยื่นร่าง พ.ร.บ.ข้าวและชาวนา พ.ศ. …. ให้กับ สนช. หวังเลียนโมเดลยางพาราอีกด้าน ค้านก.เกษตรฯ บีบชาวนา 40 จังหวัดกว่าแสนครัวเรือน ให้ปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ภายใน 3 ปี ห้ามปลูกข้าว จี้พีอาร์ให้ทราบหวั่นชาวนาเสียสิทธิ์ไม่รู้ตัว ขณะที่ทีดีอาร์ไอชี้ทำนายังเป็นอาชีพหลัก หลายรัฐบาลเคยปรับเปลี่ยนให้ทำอาชีพอื่นมาแล้วสุดท้ายหนี้ท่วมเหมือนเดิม
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในวันที่ 15 กันยายนนี้ ทางสมาคมฯจะเดินทางเข้าไปยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าวและชาวนาไทย พ.ศ. …. ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อช่วยผลักดัน ซึ่งจะทำให้ชาวนามีอาชีพและสวัสดิการที่มั่นคง ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือนรอคอยมาหลายรัฐบาลแล้ว หวังว่ารัฐบาลนี้จะผลักดันให้เกิดเช่นเดียวกับกฎหมายยางพารา
“ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะมีกฎหมายคุ้มครอง และดูแลชาวนาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นด้านปัจจัยพื้นฐานการผลิต ด้านราคาผลผลิต ด้านระบบสวัสดิการชาวนา ด้านปัญหาหนี้สิน ด้านความเข้มแข็งของชาวนา และกลุ่มชาวนาที่จะต้องมีองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิต ดังนั้นหากทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของชาวนา จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างความมั่นคงในอาชีพชาวนาได้อย่างแน่นอน”
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้เข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอข้อเรียกร้องไป 9 ข้อ ซึ่งทางรัฐมนตรีก็เห็นชอบ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขาดประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐทั้งนโยบายและมาตรการโครงการต่างๆ อาทิ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/2560 จำนวน 5 โครงการในพื้นที่ไม่เหมาะสม ใน 40 จังหวัด ซึ่งไม่มีรายละเอียดในและพื้นที่ว่ามีเป้าหมายในส่วนใดของแต่ละจังหวัดบ้าง
“ยกตัวอย่างบ้านผมอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช พอเห็นที่กระทรวงประกาศ ผมตกใจเลยว่าทั้งจังหงัดเลยหรือ ซึ่งกระทรวงจะต้องทำให้ชัดเจนว่าพื้นที่แต่ละแปลงอยู่ที่ไหนบ้าง ควรจะให้จังหวัด อำเภอ และหมู่บ้านทราบ เพื่อที่จะให้ชาวนาได้รู้ เพราะไม่รู้จริงๆ บางครั้งข้าราชการก็หวังดีเอาชื่อไปใส่ให้โดยไม่แจ้งให้เจ้าตัวทราบ บางคนพอทราบข่าว จะเข้าร่วมโครงการชื่อก็เต็มแล้วในบางพื้นที่”
ดังนั้นต้องให้ชัดว่าทั้ง 5 มาตรการ (ตามตารางประกอบ) จะต้องประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ว่าถ้าเข้าเลือกโครงการปรับเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นหรือพืชอื่นแล้ว ชาวนากว่าแสนครัวเรือนจะต้องไม่ปลูกข้าวเด็ดขาดภายใน 3 ปี ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการทราบหรือไม่ หากไม่ทราบก็จะเสียสิทธิ์ เพราะไม่รู้นโยบายทั้งหมด แล้วไปจับชาวนาเซ็นสัญญาจะยุ่งในภายหลัง ดังนั้นในปีแรกควรประชาสัมพันธ์ก่อน หากฤดูการผลิตหน้าชาวนาจะปลูกข้าว ก็ควรผ่อนปรนให้ ส่วนโครงการจ่ายไร่ละ 1 พันบาทไม่เกิน 15 ไร่ ของรัฐบาลผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ควรจะให้ทุกครัวเรือนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น
ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “งานวิจัยข้าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก” เมื่อ 1 กันยายน 2559 ว่า การปลูกข้าวเป็นอาชีพที่สะดวกสบายกว่าทำเกษตรอื่นๆ และไม่มีปัญหาตลาด ทำอาชีพอื่น ต้องพัฒนาทักษะ ต้องมีที่ขาย และมีความเสี่ยง/ความไม่แน่นอนมากมาย ในอดีตรัฐบาลเคยมีนโยบายปรับโครงสร้างการผลิตของชาวนาไปทำอาชีพอื่นหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการขาดทุนหนัก เป็นหนี้เป็นสิน เช่น วัวพลาสติก เป็นต้น ไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่าสินค้าที่รัฐบาลส่งเสริมให้ชาวนาหันไปผลิต จะมีราคาสูงหรือต่ำ ดังนั้นต้องให้ชาวนาตัดสินใจเลิกเอง
source: thansettakij.com/2016/09/07/93654