data-ad-format="autorelaxed">
ตั๊กแตนข้าวระบาดไร่อ้อย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ลงพื้นที่ติดตามการวางเหยื่อพิษ ตั๊กแตนข้าวในไร่อ้อยเกษตรกร หมู่ 2 ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พื้นที่ระบาดและได้มอบเหยื่อพิษ ให้เกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 380ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับ ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่เป็นแหล่งระบาดตั๊กแตนข้าวในไร่อ้อยเดิม เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตั๊กแตนข้าว หรือตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส ได้ระบาดหนักในพื้นที่ ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,500 ไร่ โดยตั๊กแตนข้าว จะมีลักษณะตัวมีหลายสี ทั้งสีเขียวอ่อน สีน้ำตาลแดง เหลืองอ่อน และบางตัวจะมีสีดำ ส่วนที่ใต้ท้องจะมีสีดำตลอดลำตัว จะกัดกินใบอ้อยจนเหลือแต่เส้นกลางใบ ทำให้ต้นอ้อยชะงักการเจริญเติบโต และจะขยายพันธุ์ออกไปเรื่อย ๆ สำหรับพื้นที่แห่งนี้ได้เริ่มระบาดเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา
ซึ่งการที่ตั๊กแตนเข้ามาทำลายไร่อ้อยด้วยการกัดกินใบ จะทำให้ต้นอ้อยชะงักการเติบโต ในอดีตมักจะพบระบาดในป่าหญ้าคา แฝก ต่อมาเมื่อปลูกอ้อยและข้าวโพดแทนในพื้นที่ดังกล่าว ตั๊กแตนก็จะระบาดในแหล่งปลูกอ้อยและข้าวโพดนั้น ๆ และระบาดเรื้อรังเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ตั๊กแตนจะไม่เกิดหรือฟักเป็นตัวอ่อนภายในแปลง
แต่วางไข่และฟักออกเป็นตัวอ่อนที่หัวไร่ปลายนาแล้วระบาดเข้าสู่แปลงพืช ตราบใดที่หัวไร่ปลายนานั้นไม่มีการขยายแปลงหรือไถดิน ตั๊กแตนก็จะมีการระบาดทุกปี แต่ถ้าพื้นที่ใดชาวไร่ไถแปลงปลูกพืชด้วยรถแทรกเตอร์ ตั๊กแตนก็จะเบาบางลง และมีผลให้หายไปเองจากพื้นที่
ตั๊กแตนมี 6-8 วัย การลอกคราบแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 7 วัน ตัวอ่อนสีต่าง ๆ เช่น เขียวอ่อน น้ำตาลแดง เหลืองอ่อน และสีดำทั้งตัว แต่ที่สังเกตได้ง่ายก็คือหน้าดำ ใต้ท้องก็ดำตลอดตัว แต่ที่หลังเป็นเส้นนวลทองยาวตลอดลำตัว เส้นนี้อยู่กลางระหว่างเส้นสีน้ำตาลแดง ลักษณะดังกล่าวจะปรากฏอยู่ระยะที่เป็นตัวอ่อน พอเป็นตัวเต็มวัยก็จะหายไป
ตัวเต็มวัยจะมีสีเขียวเหมือนกันหมด ตัวอ่อนนั้นบางตัวมีสีดำ
แต่บินช้ากว่าตั๊กแตนปาทังกา จึงทำให้ปราบได้ง่ายกว่า ขั้นต้นเจ้าหน้าที่แนะนำว่าควรกำจัดวัชพืชที่อยู่หัวไร่ปลายนา ที่อาจเป็นที่
อยู่อาศัยของตัวอ่อน ด้วยการไถรื้อพื้นที่พลิกตากดินเพื่อทำลายตัวอ่อนของตั๊กแตน โดย
ไถหลังจากที่ตั๊กแตนเต็มวัยวางไข่ คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม–เมษายน ก่อนทำการเพาะปลูกอ้อย
บางพื้นที่ได้ใช้วิธีแก้ไขปัญหาตั๊กแตนข้าวด้วยการใช้น้ำหมักสมุนไพร ที่ผลิตขึ้น
มาเอง จากส่วนผสมของว่านน้ำ ข่าแก่ ว่านไฟ เมล็ดสะเดา หนอนตายหยาก ขมิ้นชันและพริกสด ในอัตรารวมกันที่ 30 กิโลกรัม ส่วนผสมอื่นก็มี กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม รำ 1 กิโลกรัม น้ำ 20 ลิตร สารเร่ง พด. 7 จำนวน 1 ซอง คือประมาณ 25 กรัม
โดยการนำสมุนไพรที่กล่าวมาสับให้ละเอียด นำมาหมักกับส่วนผสมต่าง ๆ ในถังหมัก คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตามด้วยใส่น้ำ แช่ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที ใส่สารเร่ง พด.7 ลงไป คลุกเคล้าอีกครั้งให้เข้ากัน ตามด้วยปิดฝาถังหมักให้สนิทตั้งไว้ในที่ร่ม เปิดฝาพร้อมคนให้ทั่วทุกวันวันละครั้ง จนครบ 12 วัน จึงนำไปใช้จัดการกับตั๊กแตน
ด้วยการนำน้ำหมักผสมกับน้ำอัตรา 1 ส่วนกับน้ำเปล่า 500 ส่วน หรือ 4 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร แล้วนำไปฉีดพ่นให้ทั่วที่ใบ ลำต้น ประมาณ 5-7 วันต่อครั้ง จะทำให้ตั๊กแตนไม่เข้ามากัดกินใบอ้อย ซึ่งสูตรนี้มีเกษตรกรในหลายพื้นที่นำมาใช้และได้ผลดีพอควร ที่สำคัญปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้ และใช้ทุนน้อยกว่าใช้สารเคมี
source: dailynews.co.th/agriculture/521581