data-ad-format="autorelaxed">
คู่แข่ง ทุเรียนตะวันออก
ภาคตะวันออก เจอคู่แข่ง ภาคเหนือ พบแหล่งปลูกทุเรียนหมอนทองพันธุ์ดี “พบพระ” พื้นที่ปลูกทุเรียน พันธุ์หมอนทอง แห่งใหม่ แหล่งเกษตร ครัวไทย-ครัวอาเซียน-สู่ครัวโลก ขณะที่ นิยม ไวรัชพานิช ลุยสวนทุเรียนที่แม่สอด กว่า 200 ไร่ พร้อม จับ เกษตรกร จังหวัดตาก -จันทบุรี ดันส่งออก ขณะที่ อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงรายไม่น้อยหน้า จีนจองเหมาสวน
นายนิยม ไวรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดตาก อาทิ อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ ฯลฯ ได้ให้ความสนใจหันมาปลูกทุเรียนเพื่อส่งออก ไปยังประเทศจีน เนื่องจาก มีความต้องการจำนวนมากและในแต่ละปีพ่อค้าชาวจีนได้เดินทางเข้ามาจับจองถึงสวนในทุกภาคที่มี อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัว ได้ลงทุนทำสวนทุเรียนที่อำเภอแม่สอด จำนวน 250 ไร่ เชื่อว่า อนาคตจะเป็นแหล่งผลิตเพื่อส่งออกได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยัง ต้องการให้ เกษตรกรในพื้นที่ จังหวัดตาก หันมาทำสวนทุเรียน อีกทั้ง เอกชนจังหวัดตากยังมีเป้าหมายเดินทางไปพบปะเอกชนจังหวัดจันทบุรี เพื่อพบปะกับชาวสวนเพื่อ รวมกลุ่มกันนำทุเรียนที่ได้ผลผลิตในแต่ละปีส่งออกไปยังประเทศจีนดังกล่าวอีกด้วย
สอดคล้องกับนายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอพบพระ จังหวัดตาก กล่าวว่า อำเภอพบพระ ถือว่าเป็นแหล่งทำการเกษตร เพื่อผลิตพืชผลใหญ่ ทั้งผลไม้-ผัก-ดอกไม้ และที่มีชื่อเสียงคือดอกกุหลาบ และผลผลิตการเกษตรต่างๆมากมายฯลฯ ส่งขายทั่วประเทศ จนเป็นที่รู้จัก ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ เมืองพบพระ กำลังกลายเป็น “ครัวไทย-ครัวอาเซียน-สู่ครัวโลก ด้านผลผลิตทางการเกษตร ฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยเกษตร-หน่วยงานด้านชลประทานและเรื่องเกี่ยวกับดิน จึงมีการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่
นายภราดร กานดา รองประธานหอการค้าจังหวัดตากและเจ้าของไร่ปฐมเพชรสวนกุหลาบที่ผลิตดอกกุหลาบ ส่งจำหน่ายทั่วประเทศ กล่าวว่า พื้นที่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรขนาดใหญ่ ด้วยสภาพอากาศที่ดี-ดินดีและน้ำดี นั้น จากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ได้พบว่าสามารถปลุกทุเรียนได้ดีเช่นกัน ซึ่งได้มีการทดลองปลูกแล้ว เป็นพันธุ์หมอนทอง ผลโต ดกและรสชาติหอมหวานกลมกล่อม และเนื้อทุเรียนจะฟูมาก คุณภาพทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ อำเภอพบพระ ถือว่ากำลังจะเป็นทุเรียนชั้นนำในอันดับต้นๆ ไปแล้ว ในเวลาอันรวดเร็ว ใช้เวลาปลูก 3-4 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว และที่ไร่ปฐมเพชรนี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2559 ก็จะสามารถเก็บผลผลิตทุเรียนเมืองพบพระ ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งในการทดลองปลูกนี้ ได้ทำประมาณ 1 แปลงใหญ่ 40-50 ต้น ซึ่งผลผลิตกำลังจะเกี่ยวเก็บและออกขายครั้งนี้ในเดือนตุลาคม 2559 นี้
“ผมอยากส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ อำเภอพบพระ ได้มาปลูกทุเรียน เพราะ ในพื้นที่เรา อากาศดี-ดินดี-และน้ำดิน อุดมสมบรูณ์ ด้วยธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ตอนนี้ที่ไร่ปฐมเพชร พอจะมีต้นกล้าทุเรียนอยู่ สามารถติดต่อได้ ในราคากล้าละเพียง 50 บาท สำหรับคนในพื้นที่” นายภราดร กานดา กล่าว
ด้านนายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบันสามารถปลูกผลไม้สำคัญๆได้ โดยเฉพาะทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ อาทิหมอนทอง เป็นต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องปลูกได้เฉพาะ พื้นที่ในจังหวัดภาคตะวันออกอย่างจันทบุรีระยอง ตราด ได้เพียงอย่างเดียว หรือ ทางภาคใต้ อย่างชุมพรระนอง ฯลฯ กลับกันในพื้นที่ อำเภอเชียงของที่ปัจจุบันมี สวนทุเรียนเกิดขึ้นกว่า 100 ไร่ และกำลังได้รับความสนใจจากพ่อค้าจีนที่เข้ามาจับจองถึงสวนนอกจากนี้ อีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายก็มีสวนทุเรียน นอกจากทุเรียนแล้ว ยังมี ผลไม้อื่นที่รับประทานได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องสั่งจากนอกพื้นที่อีกต่อไป คือ เงาะลองกอง ซึ่งที่ผ่านมาจะพบมากที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ แต่ปัจจุบัน เชียงรายก็มีปลูกขายกันแล้ว ทั้งนี้เกิดจากนักวิชาการได้ นำความรู้มาพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่และสายพันธุ์ให้ปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี
source: thansettakij.com/2016/09/06/93051