data-ad-format="autorelaxed">
นาข้าวเสียหาย
อธิบดีกรมอุตุฯเตือน 29 จังหวัดเหนือ -อีสาน เสี่ยงฝนตกหนัก นํ้าท่วมฉับพลัน-นํ้าป่าไหลหลาก ด้าน ก.เกษตรฯ สรุปฝนตกตั้งแต่ พ.ค. มีพื้นที่เกษตรเสียหายใน 25 จังหวัด นาข้าวสูงสุด 2.23 แสนไร่ ขณะปลัดมท. สั่งผู้ว่าฯทั่วประเทศรับมือนํ้าท่วมช่วยเหลือประชาชนอย่างบูรณาการอธิบดีกรมชลฯ เผยปริมาณฝนเติมนํ้าในเขื่อนยังไม่เป็นที่พอใจ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยานํ้ายังน้อย หวังฝนเทช่วงครึ่งหลังส.ค.ต่อเนื่องถึง ต.ค.ช่วยไทยพ้นแล้งปี 60
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่มีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบน และประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศตํ่าบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงนี้โดยช่วงระหว่างวันที่ 18-21 สิงหาคม จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ทั้งนี้จังหวัดที่มีความเสี่ยงฝนตกหนักในช่วงนี้มี 29 จังหวัด แยกเป็นภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย มุกดาหาร สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และบึงกาฬ
“ทางกรมจะมีการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการซึ่งในจังหวัดข้างต้นทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. จะมีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงสูง อาทิ พื้นที่ลาดชัน พื้นที่ระวังน้ำป่าไหลหลาก โดนจะมีประกาศเตือนและเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที”
สอดคล้องกับนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่กล่าวว่า ทางกระทรวงได้สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเฝ้าระวังและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุพายุลมแรงและฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีข้อห่วงใยถึงสถานการณ์ภัยพิบัติที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน และมีบัญชาให้ทุกหน่วยงานเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น อาทิ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ อุบัติเหตุต่างๆ น้ำท่วมขัง ปัญหาการคมนาคมขนส่ง การเดินเรือ ความปลอดภัยในอาคารและป้ายขนาดใหญ่ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงเตรียมระบบการติดต่อสื่อสารต่างๆ ให้มีความพร้อม
ขณะที่นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำฝน ณ เวลานี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งหากพิจารณาจากปริมาตรน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ณ 16 ส.ค.59)ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำรวม 9,587 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 39% ของความจุ ในจำนวนนี้มีปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ 2,891 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 16% ยังไม่พ้นวิกฤติ คงต้องลุ้นครึ่งหลังของเดือนสิงหาคมนี้ไปจนถึงเดือนตุลาคม ที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกเติมน้ำในเขื่อนมากขึ้น โดยคาดหวังว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ปริมาตรน้ำใน 4 เขื่อนหลัก จะมีน้ำใช้การได้ 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และในฤดูแล้งปี 2560 ไทยจะพ้นวิกฤติแล้ง ชาวนาจะสามารถทำนาได้ปกติ
แหล่งข่าวจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2559 ผลกระทบด้านการเกษตร ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่การเกษตรประสบอุทกภัย จำนวน 25 จังหวัด อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พิจิตร และ พิษณุโลก เป็นต้น มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 35,064 ราย พื้นที่ประสบภัย 297,312.75 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 223,384.50 ไร่ พืชไร่ 66,416.50 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 9,241.75 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 239 ราย พื้นที่เสียหาย 1,578.50 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 57 ไร่ พืชไร่ 1,410.50 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,197 ราย
source: thansettakij.com/2016/08/18/86030