data-ad-format="autorelaxed">
การทำระบบเกษตรแปลงใหญ่ ทำให้พื้นที่ได้ผลิตผลิตเยอะป้อนเข้าสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์การเกษตรต่างๆ สามารถทำตลาดได้ง่ายกว่าเดิมก็จริง
แต่.. การปลูกพืชเชิงเดียวติดกันนับหมื่นไร่ เวลาที่มีโรคระบาดลง จะส่งผลกระทบลุกลามไปอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายในวงกว้างหรือไม่?
เกษตรกรปลูกพืชชนิดเดียว ส่งสหกรณ์เดียว นั่นหมายความว่า ผลผลิตจะขายได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของใคร และใครเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดการดำเนินการผิดพลาด
อำนาจการต่อรองอยู่ที่ใคร ใครเป็นคนกำหนดราคา ในอนาคตจะเกิดระบบอุปถัม ขึ้นหรือไม่ คล้ายๆระบบเกี้ยวอ้อย ที่มีนายทุนผูกขาดระบบการผลิตพืช ด้วยการจ่ายก้อนเงินลงมาให้เกษตรกรเป็นหนี้ แล้วต้องซื้อพันธุ์ และปัจจัยการผลิตจากแหล่งที่กำหนด ได้ผลผลิตแล้ว ส่งขายคืน ได้เงินมาใช้หนี้คืนจายทุน ที่เหลือถึงจะได้ใช้ ทั้งที่ที่ดินเป็นของเกษตรกร แต่ระบบงาน ดูเหมือนกลายเป็นลูกจ้าง ที่ต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ภาพแบบนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่
นี่เป็นสิ่งที่เรากังวล ไม่ได้บอกว่าจะเกิดขึ้นแบบนั้นจริงๆ แต่กลัวเหลือเกินว่า สุดท้ายจะมาลงในรูปแบบนี้…
——————————-
ข้อมูลข่าวจากเดลินิวส์
เกษตรแบบแปลงใหญ่ ภายใต้ระบบสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้ ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่
ซึ่งการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่เป็นหลักในการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
การดำเนินงานดังกล่าว ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบบเบ็ดเสร็จ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันผลิต และจำหน่าย เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด
ทั้งนี้ได้มีการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานเป็นเจ้าภาพกิจกรรมตามบทบาทของแต่ละส่วนราชการ ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาชน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบด้านการตลาด นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ใช้ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสหกรณ์
ด้วยปัญหาที่สำคัญของสหกรณ์ที่พบในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจของสมาชิกยังค่อนข้างน้อย มีข้อบกพร่องในการดำเนินงาน ขาดการควบคุมภายใน และมีการจัดการในธุรกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์ในปี
งบประมาณ พ.ศ 2558 ที่ผ่านมา โดยใช้เกณฑ์การประเมิน 4 ด้าน ประกอบด้วย ความสามารถในการให้บริการสมาชิก ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร และประสิทธิภาพของการบริหารงาน
พบว่า ทั่วประเทศมีสหกรณ์รวม 8,230 แห่ง อยู่ในชั้น 1 (ดีมาก) จำนวน 2,252 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 27 ชั้น 2 จำนวน 4,102 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50 ชั้น 3 จำนวน 788 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10 ชั้น 4 จำนวน 1,088 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 13 สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์มีสหกรณ์รวม 87 แห่ง อยู่ในชั้น 1 เพียงจำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 17 ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ในการที่จะผลักดันให้สหกรณ์ในจังหวัดให้มีการยกระดับชั้น ไปอยู่ในชั้น 1 ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ จะต้องมีการสร้างความเข้าใจกับผู้จัดการสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการ ในการที่จะให้สหกรณ์ทำหน้าที่ทางการตลาด เช่น จัดหาปัจจัยการผลิตทางเกษตรมาจำหน่ายแก่สมาชิกแปลงใหญ่ รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากสมาชิกแปลงใหญ่ผลิตได้ ซึ่งหากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่สหกรณ์อีกทางหนึ่ง และจะเป็นการขับเคลื่อนแผนงานนโยบายของรัฐบาล รวมถึงเป็นการสร้างศรัทธาแก่สมาชิกด้วย
นอกจากนี้สหกรณ์ยังสามารถที่จะใช้วิธีการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ไปใช้ในการพัฒนาสหกรณ์ด้วยการส่งเสริมให้สมาชิกลดต้นทุนในการผลิตได้อีกทางหนึ่ง เช่น การให้สมาชิกกู้เงินร่วมกันเพื่อเลี้ยงโคในลักษณะสัญญาร่วม ในลักษณะคอกรวม และปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงโคในลักษณะแปลงรวม จัดทำตารางการปฏิบัติงานหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันมาดูแลโค ดูแลแปลงหญ้า แล้วรวมกันจำหน่าย นำรายได้มาแบ่งปันกันตามสัดส่วนการลงทุน
การจัดการในลักษณะแบบนี้เป็นการนำเอาวิธีการรวมกันผลิต รวมกันจำหน่าย ซึ่งเป็นหลักส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มาใช้ในการพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์จะได้ประโยชน์ทั้งในด้านการส่งเสริมให้สหกรณ์มีปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้น สมาชิกสหกรณ์จะมีเวลาเหลือเพื่อไปทำงานอย่างอื่น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญสหกรณ์จะเป็นพลังที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างยั่งยืน
Source: http://www.dailynews.co.th/agriculture/512677