data-ad-format="autorelaxed">
พฤกษาฆาตกรรม…การปรับตัวของพืชกินแมลง
พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตอยู่บนบกส่วนใหญ่ และไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ พื้นที่ที่มีพืชเจริญเติบโตจึงต้องเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช หากแต่ในพื้นที่แห้งแล้งบางแห่งที่ไม่มีผู้ย่อยอินทรีย์สาร คอยทำหน้าที่หมุนเวียนสารประกอบไนโตรเจน จึงขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ก็ยังมีพืชบางกลุ่มที่สามารถเจริญเติบโตได้
พืชที่พยายามปรับตัวเองให้อยู่รอดได้ในพื้นที่ที่ขาดธาตุไนโตรเจนหรือพี้นที่ที่แห้งแล้ง ส่วนใหญ่จะปรับลักษณะของใบให้เป็นอวัยวะดักจับสัตว์ขนาดเล็ก เช่นแมลง และจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยสารอาหารที่เป็นสารประกอบไนโตรเจน ทดแทนธาตุอาหารจากดิน ดาร์วินเรียกพืชที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า “พืชกินแมลง”
หม้อข้าวหม้อแกงลิง…เจ้าแห่งการปรับตัว
หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes spp.) เป็นไม้เถาเลื้อยสร้างกับดักที่ไม่มีการเคลื่อนไหว
โดยปรับเปลี่ยนเส้นกลางใบให้ยืดยาวและขดงอเป็นมือจับ ใช้ในการเกาะยึดกับต้นไม้อื่นเพื่อชูลำต้นและใบให้สูงขึ้นไปรับแสงแดด ปลายของมือจับนี้จะเป็นแผ่นใบ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเป็นกับดักรูปทรงกระบอก โดยแผ่นใบส่วนปลายจะเชื่อมกันตามแนวยาว และแผ่นใบด้านบนจะกลับเข้ามาอยู่ด้านใน ซึ่งภายในกระบอกจะมีต่อมผลิตน้ำย่อยที่มีสภาพเป็นกรดสามารถย่อยอาหารที่มีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมลง หรืออาจเป็นสัตว์อื่น ๆที่มีขนาดเล็ก
กาบหอยแครง…1 2 3 งับ
“กาบหอยแครง” (Venus flytraps) เป็นพันธุ์ไม้ของทวีปอเมริกา พบตามธรรมชาติบริเวณที่เป็นแอ่งมีน้ำท่วมขัง จัดไว้ในชนิด Dionaea muscipula มีสายพันธุ์ที่มีลักษณะต่างๆ กันหลายสายพันธุ์
กลไกการงับเหยื่ออยู่ที่แผ่นใบด้านบน ที่มีขนขนาดเล็ก 3-5 เส้น เหยื่อจะต้องชนขน 2-3 เส้น ในเวลาติดต่อกันไม่เกิน 30 วินาที หรือชนขนเส้นเดิมอย่างน้อยสองครั้ง จึงจะกระตุ้นให้แผ่นใบหรือกาบทั้งสองข้างประกบเข้าหากันปิดกักไม่ให้สัตว์ที่หลงเข้ามาออกไปได้ ขนที่ขอบใบจะหลั่งน้ำย่อยออกมาย่อยเหยื่อ ซึ่งตามปกติใช้เวลา 3-10 วัน ถ้าเหยื่อมีขนาดเล็กจะสามารถหนีรอดไปได้กาบหรือแผ่นใบจะเปิดออกภายใน 12 ชั่วโมง ถ้าไม่มีเหยื่อหลงเข้ามากาบทั้งสองข้างจะยังคงเปิดอยู่ได้เป็นชั่วโมงเพื่อรอคอยเหยื่อ
ข้อมูล/ภาพ : ศ.ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด และ ผศ.ดร. รสริน พลวัฒน์ ภาควิชากพฤษศาสตร์ คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Source: http://www1a.biotec.or.th/BRT/index.php/biodiversity/273-plant-adaptation