data-ad-format="autorelaxed">
เงินช่วยเหลือเกษตรกร
เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือ 10,000 บาท แต่ยังคงไม่ได้จ่ายลงมาให้กับเกษตรกรเสียที ด้วยปัญหาที่เกิดจากความทับซ้อนทางนโยบายกันเอง หลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือชาวนาที่จะได้เงินนี้ ต้องทำนาอยู่ในพื้นที่เหมาะสมตาม Agrimap ถึงวันนี้ยังไม่มีข้อมูล ว่าจะจ่ายให้ใครได้ หรือจ่ายให้ใครไม่ได้
การให้เงินช่วยเหลือลงไปถึงมือเกษตรกรแบบนี้ นับเป็นเรื่องที่ดี ดีในที่นี้หมายถึงดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการจ่ายเงินลงไปหมู่บ้าน ในลักษณะให้เขียนโครงการ เพื่อที่จะต้องเบิกเงินมาจ่ายซื้อของให้สอดคล้องกับโครงการ ซึ่งเงินลักษณะโครงการนี้ จะเกิดช่องวางการทุจริตระหว่างทาง ซึ่งผู้บริหารระดับสูง อาจจะไม่ทราบ หรือมองไม่เห็น หรืออาจจะคิดไม่ทัน ทั้งๆที่มีเจตนาดี นโยบายดี หวังจะช่วยเกษตรกรในพื้นที่ ให้ถึงหมู่บ้าน แต่นโยบายลงไปถึงมือผู้มีอำนาจในระบบท้องถิ่น ในขั้นตอนการเขียนโครงการนั้น ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนเขียน ชาวบ้านเขียนโครงการเองเป็นหรือไม่ โครงการดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการจริงหรือไม่ หรือมีใครเป็นผู้กับหนด ใครเป็นคนเขียน ใครเป็นคนนำเสนอ ใครเป็นคนให้ผ่าน ขั้นตอนเหล่านี้ คนในพื้นที่คงรู้ดี ทางผู้เขียนไม่รู้รายละเอียดเหล่านี้ แต่ดูจากภาพรวมแล้ว ระบบมันมีช่องว่าง ซึ่งอาจจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการ หรือได้รับสินค้า หรือของตามโครงการ ที่มีราคาแพงกว่าปกติ ในคุณภาพที่ต่ำกว่าปกติ บางหมู่บ้านแย่หน่อย ชาวบ้านไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ว่ามีเงินโครงการลงมา
เงิน 37,800 ล้านบาทนี้ จ่ายลงมาถึงมือเกษตรกรได้เร็วยิ่งเป็นเรื่องดี แต่เรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันก็ต้องรอบคอบ แต่การให้เงินช่วยเหลือ สม่ำเสมออย่างนี้ทุกๆปี เป็นสิ่งที่ดีจริงหรือไม่ เมื่อเที่ยบกับการพัฒนาระบบที่เอื่ออำนวยต่อการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้ด้วยตนเอง ซึ่งเกษตรกรไทย เก่งไม่แพ้ใครในโลกอยู่แล้ว เลือกเติมสิ่งที่เขาขาดบางอย่าง ที่เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ จะเป็นการดีกว่าหรือไม่..
อ้างอิงตามข่าว จากประชาชาติธุรกิจ ตามข้อมูลด้านล่างนี้
—————————————-
คลังมึนตึ้บ! จ่ายชาวนาไร่ละพันเจอปัญหา เร่งชง ครม. รับทราบอุปสรรค
คลังมึนตึ้บ! จ่ายชาวนาไร่ละพันเจอปัญหา หลังมติ ครม. ตีกรอบเข้มห้ามจ่ายซ้ำซ้อนมาตรการลดปลูกข้าวนาปรังของกระทรวงเกษตรฯ-ปลูกข้าวพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่ Agimap รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.เผยคลังเตรียมรายงาน ครม. รับทราบปัญหาเร็ว ๆ นี้
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเร็ว ๆ นี้ ทางกระทรวงการคลังจะรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงปัญหาอุปสรรคการจ่ายเงินให้แก่ชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 10 ไร่ ที่อาจจะต้องล่าช้าออกไปอีก หลังจากกระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยแล้ว ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดก่อนหน้านี้
“หลังจาก ครม. เห็นชอบหลักการให้จ่ายชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่ให้มาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการจ่าย โดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินการหารือแล้ว และ ธ.ก.ส.เองก็พร้อมดำเนินการจ่ายเงิน จึงมีการเสนอ ครม. เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ครม. มีข้อเสนอเพิ่มเติม เกี่ยวกับคุณสมบัติของเกษตรกร” นายสมศักดิ์กล่าว
โดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 ก.ค. มีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือ โดยประเด็นสำคัญคือ 1) ชาวนาที่จะได้รับความช่วยเหลือจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังฤดูต่อไป และ 2) ชาวนาที่จะได้รับการช่วยเหลือต้องทำนาในพื้นที่ที่เหมาะสมตามแผนที่ Agimap
“กระทรวงการคลังได้นัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 ก.ค. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามมติ ครม. ซึ่งอาจทำให้การจ่ายมีความล่าช้าออกไป กรณีไม่สามารถดำเนินการตามมติ ครม. ได้ โดยกระทรวงการคลังจะต้องรายงาน ครม. รับทราบต่อไป” นายสมศักดิ์กล่าว
รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า สำหรับข้อติดขัดในประเด็นแรกที่ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการของกระทรวงเกษตรฯ นั้น ทางกระทรวงการคลังได้ทำหนังสือถึงทางกระทรวงเกษตรฯ ให้ส่งข้อมูลการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งได้รับแจ้งกลับมาว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลในอนาคต ยังไม่ได้มีการสำรวจในขณะนี้ ดังนั้นคงไม่อาจทราบได้ในตอนนี้ว่าใครจะปลูกข้าวนาปรังบ้าง หรือไม่ปลูกบ้าง ขณะที่ประเด็นที่สอง ที่ให้ยึดตามแผนที่ Agimap นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ลำบากใจที่จะไปห้ามชาวนาทำนาในพื้นที่ที่แผนที่ระบุว่าไม่เหมาะสม
“ตอนนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ว่าใครจ่ายได้ หรือจ่ายไม่ได้ ทางกระทรวงมหาดไทยเองก็ไม่สบายใจ ก็อาจต้องรายงาน ครม.ให้รับทราบข้อติดขัดเหล่านี้” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ครม. ต้องการให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินชาวนาให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน นับตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2559 โดยกำหนดให้การตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ ธ.ก.ส. ชี้แจงแนวทางการช่วยเหลือ จากนั้นให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรภายใน 3 วัน ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินว่า ต้องใช้วงเงินรวม 37,800 ล้านบาท
Source: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1469259810