data-ad-format="autorelaxed">
ส่งออกผัก
ส่งออกผัก - ผักและผลไม้ของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้นจากประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน และฮ่องกง เห็นได้จากมูลค่าส่งออกผักและผลไม้รวม 352 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.4 ในปี 2546 เนื่องจากการเพาะปลูกผักและผลไม้ของไทยมีมาตรฐานสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มให้ความสำคัญมากขึ้นกับสุขอนามัยของผักและผลไม้ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบศัตรูพืชและปริมาณสารพิษตกค้างในผักและผลไม้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ส่งออกผักและผลไม้ของไทยควรศึกษาและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แต่ละประเทศกำหนดอย่างเคร่งครัด
สิ่งสำคัญที่ ผู้ส่งออกผัก และผลไม้ของไทยต้องเตรียมพร้อมก่อนการส่งออกมีดังนี้
ใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate) ประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่มักกำหนดให้ผู้ ส่งออกผัก และผลไม้ (สดแช่เย็น แช่แข็ง และอบแห้ง) ต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชจากประเทศผู้ส่งออกแสดงต่อด่านนำเข้าจึงจะอนุญาตให้นำเข้าได้ ในขณะที่ผักและผลไม้บางชนิดอาจไม่ต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืช (ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละประเทศ) และในบางประเทศอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ระบุในใบรับรองปลอดศัตรูพืช อาทิ วิธีการกำจัดศัตรูพืช ชนิดของศัตรูพืช หรือกำหนดให้เจ้าหน้าที่ในประเทศของตนต้องลงนามร่วมกับเจ้าหน้าที่ของประเทศผู้ส่งออก (เฉพาะการส่งออกมะม่วงและมังคุดไปญี่ปุ่นเท่านั้น)
ผู้ที่ต้องการส่งออกผักและผลไม้ต้องให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช โดยเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะสุ่มตรวจสินค้าก่อนจึงจะออกใบรับรองให้ ซึ่งปริมาณการสุ่มตรวจขึ้นอยู่กับปริมาณศัตรูพืชที่มีโอกาสปนเปื้อนไปกับผักและผลไม้ อย่างไรก็ตาม ผักและผลไม้อาจถูกสุ่มตรวจจากประเทศปลายทางอีกครั้งแม้ว่ามีใบรับรองปลอดศัตรูพืชแล้วก็ตาม ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ
ใบรับรองสารพิษตกค้าง (Certificate of Pesticide Residues) กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้การส่งออกผักและผลไม้บางชนิด (สดแช่เย็น แช่แข็ง และอบแห้ง ทั้งเป็นลูก แกะเปลือก และหั่นเป็นชิ้น ขึ้นอยู่กับชนิดของผักและผลไม้เป็นสำคัญ) ไปยังตลาดส่งออกสำคัญต้องได้รับการตรวจสารพิษตกค้างจากกรมวิชาการเกษตรก่อนแม้ว่าประเทศผู้นำเข้าไม่กำหนดเงื่อนไขของการมีใบรับรองสารพิษตกค้างก็ตาม เพื่อให้การส่งออกผักและผลไม้ไปยังประเทศต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับรายละเอียดของผักและผลไม้ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ต้องตรวจสารพิษตกค้างมีดังนี้
ผักและผลไม้ 12 ชนิด ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปและอีก 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียว ขิง (อ่อนและแก่) ข้าวโพดฝักอ่อน พริก (รวมพริกแห้งและพริกป่น) หน่อไม้ฝรั่ง ลำไย ทุเรียน ลิ้นจี่ มังคุด มะม่วง มะขาม (หวาน เปรี้ยว และอ่อน) และส้มโอ
ผัก 21 ชนิด ที่ส่งออกไปญี่ปุ่น ได้แก่ คะน้า ผักคะแยง ใบบัวบก ผักแพรว ชะอม/ส้มป่อย ใบมะกรูด กระเจี๊ยบเขียว ผักชี ยี่หร่า ใบกะเพรา ใบโหระพา ตะไคร้ ใบสะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ผักขึ้นฉ่าย ใบแมงลัก ผักเป็ด ถั่วลันเตา กะหล่ำใบ ผักชีลาว และผักกะเฉด
ทั้งนี้ สารตกค้างที่อยู่ในเกณฑ์ตรวจสอบ คือ สารกำจัดแมลง 38 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 7 ชนิด และสารกำจัดวัชพืช 7 ชนิด
การจดทะเบียนผู้ส่งออก กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ผู้ส่งออกทุเรียนสดและลำไยสด ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรก่อนจึงสามารถส่งออกผลไม้ทั้ง 2 ชนิดออกนอกราชอาณาจักรได้ สำหรับด้านประเทศผู้นำเข้าขณะนี้มีเพียงออสเตรเลียซึ่งกำหนดให้ผู้ส่งออกสับปะรดสดไปออสเตรเลียต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรก่อน
การขึ้นทะเบียนสวน ปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าบางประเทศเริ่มกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องขึ้นทะเบียนสวนซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่ต้องการส่งออก อาทิ จีนกำหนดให้ขึ้นทะเบียนสวนมะม่วง และออสเตรเลียกำหนดให้ขึ้นทะเบียนสวนสับปะรด เป็นต้น ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนสวนให้กับผู้ส่งออก
การจัดเตรียมใบรับรองและการจดทะเบียนดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะช่วยลดอุปสรรคในการส่งออกผักและผลไม้ของไทยแล้ว ยังช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผักและผลไม้สดซึ่งมีโอกาสเน่าเสียง่ายหากมีการกักกันการนำเข้า ณ ประเทศปลายทาง ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกควรศึกษาถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิ ชนิดของผักและผลไม้ที่แต่ละประเทศอนุญาตให้นำเข้า รสนิยมของผู้บริโภค ช่วงเวลาที่ควรส่งออก และระบบภาษี เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนการส่งออกผักและผลไม้ไปตลาดต่างประเทศ
ที่มา exim.go.th