data-ad-format="autorelaxed">
ส่งออกทุเรียน
ไทยส่งออก เนื้อทุเรียนแช่แข็ง พุ่ง จีนซื้อไม่อั้น สหกรณ์การเกษตรตราด-จันทบุรีโกย1,600ล.
ส่งออกทุเรียน ตลาด เนื้อทุเรียนแช่แข็ง โตสุด ๆ จีน ยุโรป ญี่ปุ่นออร์เดอร์พุ่งเท่าตัว พร้อมนำเข้าไปแปรรูปอบแห้งฟรีซดรายด์ขายต่อ "สหกรณ์การเกษตรตราด" ส้มหล่น ปีนี้จีนสั่งซื้อลอตใหญ่ 3,000 ตัน คาดทำรายได้กว่า 600 ล้านบาท ชี้ข้อดีช่วยเพิ่มมูลค่าทุเรียนตกไซซ์ ชาวสวนไม่ต้องรีบตัดทุเรียนอ่อนขาย วอนรัฐหนุนเงินทุนหมุนเวียน ด้านสหกรณ์ท่าใหม่จันทบุรีเผยคำสั่งซื้อทะลัก แต่ผลิตไม่พอขาย ปี"58 ฟันรายได้ 1,000 ล้าน
การ ส่งออกทุเรียน ให้กับคู่ค้าต่างประเทศที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะส่งออกทุเรียนผลสุกประมาณ70-80% โดยบรรจุในลังกระดาษ กล่องละประมาณ 4 ผล แต่ในระยะหลังเริ่มมีการส่งออกในลักษณะเนื้อทุเรียนสุกแช่แข็งมากขึ้น เพราะสะดวกในการรับประทาน และไม่เสี่ยงต่อการบริโภคทุเรียนอ่อน รวมทั้งลดต้นทุนค่าขนส่ง ไม่ต้องนำเปลือกทุเรียนไปด้วย
ตราดออร์เดอร์พุ่งไม่พอขาย
นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จังหวัดตราด จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสหกรณ์ฯได้เริ่ม ส่งออกทุเรียน เนื้อทุเรียนแช่แข็งไปประเทศจีน โดยมีบริษัท เทียนชาน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดของจีนเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ ในปี 2559 มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ตัน ขณะที่ปี 2558 ปริมาณสั่งซื้ออยู่ที่ 1,000 ตัน ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับสหกรณ์ฯแล้ว 2,680 ตัน
อย่างไรก็ตาม จังหวัดตราดสามารถผลิตทุเรียนหมอนทองได้ปีละประมาณ 30,000 ตันเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากจีน สหกรณ์ฯจึงต้องให้เครือข่ายรับซื้อจากจังหวัดระยอง จันทบุรี และภาคใต้ เช่น ชุมพร ยะลา รวมทั้งในตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง
สำหรับเนื้อทุเรียนแช่แข็งจะต้องเป็นพันธุ์หมอนทองเท่านั้น เพราะเนื้อมาก รสชาติหวานมัน เนื้อแน่น กลิ่นไม่แรง สุกประมาณ 75-90% อัตราทุเรียนผลและเนื้อทุเรียนแช่แข็งอยู่ที่ 70:30 คือทุเรียนผล 1,000 กิโลกรัม ทำเนื้อทุเรียนแช่แข็งได้ 312.5 กิโลกรัม ตอนนี้ตลาดจีนโตสุด ๆ แต่จังหวัดตราดมีทุเรียนผลหมอนทองไม่พอออร์เดอร์ 3,000 ตัน
"การ ส่งออกทุเรียน เนื้อทุเรียนแช่แข็งจะช่วยเพิ่มมูลค่าได้เท่าตัวจากการขายทุเรียนผลตกไซซ์ส่งออกไม่ได้ ปีที่แล้วทุเรียนตกไซซ์ราคา 20 บาท/กิโลกรัม สหกรณ์ฯซื้อถึง 40 บาท/กก. และตลาดจีนนิยมบริโภคทุเรียนอยู่แล้ว ด้วยรสชาติหวานมัน การใช้ทุเรียนสุกมากแช่แข็งจึงเป็นที่นิยมรับประทานสด ๆ มากและนำไปอบแห้งหรือ Freeze Dried เป็นอาหารแปรรูปหรืออาหารขบเคี้ยวต่อได้อีกด้วย"
ตลาดจีนโตสุด ๆ
นายวุฒิพงศ์กล่าวต่อว่า เนื้อทุเรียนแช่แข็งเป็นที่นิยมเพราะเป็นทุเรียนแก่จัด รสชาติหวานมันอร่อยเหมือนทุเรียนสด มีรับประทานได้ตลอดปี ต่างจากทุเรียนผลสดที่มีราคาแพงกว่าและมีผลผลิตเฉพาะช่วงฤดูกาล อีกทั้งไม่เสี่ยงต่อการบริโภคทุเรียนอ่อน ปี 2558 ราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท ทำรายได้ให้จังหวัดมูลค่า 200-250 ล้านบาท คาดว่าในปีนี้ราคาน่าจะใกล้เคียงกัน มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท
"การคัดเกรดบรรจุกล่อง ทุเรียนแยกเป็น 3 เกรด คือ เกรด A เนื้อทุเรียนสีเหลือง เม็ดสวยเต็มพู รับประทานได้ทั้งสดและแปรรูป เกรด K1 ไม่เป็นเม็ด หรือพู เป็นเศษทุเรียน มีทั้งสีเหลือง สีขาวปะปนกัน นิยมแปรรูปเป็นไอศกรีม ไส้ขนมหรืออบแห้ง และเกรด K2 สีไม่ค่อยเหลืองแต่เม็ดยาวเต็มพู รับประทานทั้งสดและแปรรูป โดยนำไปบรรจุถุง ถุงละ 20 กิโลกรัมต่อ 1 กล่อง การแปรรูปปลายทางบริษัทจีนจะแปรรูปอบแห้งฟรีซดรายด์บรรจุซองสุญญากาศจำหน่ายต่อ"
ทั้งนี้ การทำเนื้อทุเรียนแช่แข็งนอกจากช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนตกไซซ์แล้ว ยังทำให้ชาวสวนไม่ต้องรีบตัดทุเรียนอ่อนขาย และรองรับปริมาณทุเรียนที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเจ้าของสวนยางพาราได้โค่นต้นยางทิ้งแล้วหันมาปลูกทุเรียน คาดว่าจะมีปริมาณทุเรียนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หรือประมาณ 150,000 ตันในอีก 5 ปีข้างหน้า
สำหรับแนวโน้มตลาดเนื้อทุเรียนแช่แข็งจะยังคงขยายตัวโดยเฉพาะตลาดจีน ยุโรป ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และในอนาคตการทำเนื้อทุเรียนแช่แข็งจะต้องมีการพัฒนาเป็นเนื้อทุเรียนอบแห้ง (Freez and Dry) รัฐควรให้การสนับสนุนเงินทุนสหกรณ์ฯเพื่อขยายโรงงาน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ยเพื่อให้ภาคการผลิต การตลาดเข้มแข็งและขยายตัวมากกว่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์ฯต้องกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละ 30 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 6 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน กว่าจะได้รับเงินคืนประมาณ 8 เดือนในแต่ละรอบปีของผลไม้ และทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าจีนเชี่ยวชาญด้านการตลาด สหกรณ์จึงต้องส่งออกผ่านบริษัทของชาวจีน
สหกรณ์ท่าใหม่จันท์โกย 1,000 ล้าน
ด้านนางกาหลง เพิ่มพูน ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกทุเรียนผลและเนื้อทุเรียนแช่แข็งอีกราย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความต้องการเนื้อทุเรียนแช่แข็งของตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ในปี 2558 ที่ผ่านมา สหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ฯได้ส่งออกทุเรียนผลไปญี่ปุ่นจำนวน 2 หมื่นตัน และส่งออกเนื้อทุเรียนแช่แข็งไปประเทศจีน จำนวน 1,456 ตัน มีรายได้รวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มตลาดเนื้อทุเรียนแช่แข็งจะเติบโตดีกว่าทุเรียนผล ขณะที่ปี 2559 มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก แต่ผลิตไม่พอ ส่วนตลาดยุโรปไม่สามารถส่งผลสดไปได้ ต้องแปรรูปก่อน
ส่วนวิธีการหาตลาดจะมีผู้ประสานงานประจำอยู่ที่ต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ทราบราคาปลายทางเพื่อนำมากำหนดราคาซื้อที่ต้นทางได้ ทั้งนี้ สหกรณ์ฯไม่ได้แข่งขันกับล้งจีนแต่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ ส่วนใหญ่จะส่งออกไปญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งสหกรณ์ฯไม่ได้มุ่งหวังกำไรมากที่สุด แต่ให้ผลตอบแทนสมาชิกให้มากที่สุด
ดังนั้นจึงซื้อในราคานำตลาดได้ เช่น ปี 2558 ซื้อราคานำตลาดได้กิโลกรัมละ 2 บาท เกษตรกรขายได้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50-60 บาท คาดว่าปีนี้ทุเรียนน่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่กระจายไป 3 รุ่น ราคาเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 60-70 บาท
"สหกรณ์ที่เข้มแข็งและพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ซื่อสัตย์กับลูกค้า จะสามารถต่อสู้กับล้งจีนได้ และก่อนที่จะทำการค้าล่วงหน้าจะต้องถามเกษตรกรว่า ทำตามออร์เดอร์ได้หรือไม่ จึงค่อยทำสัญญากับคู่ค้า" นางกาหลงกล่าว
ข้อมูลจาก prachachat.net