data-ad-format="autorelaxed">
กัมพูชา ส่งออกข้าว
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าเกษตรเริ่มมีการแข่งขันที่รุนแรงในอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากประเทศสมาชิกล้วนมีสินค้าที่คล้ายคลึงกัน การพัฒนาคุณภาพของสินค้าจึงถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างจุดขายและความแตกต่าง ในตลาดโลก เพื่อเพิ่มยอดขาย
พนมเปญโพสต์ รายงานว่า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EC) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีการลดลงเล็กน้อย ตรงกันข้ามกับยอดส่งออกข้าวของเมียนมาที่กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
ช่วงเดือนกันยายนปีกลายถึงเดือนเมษายนปีนี้ ยอดขายข้าวจากกัมพูชาที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 167,660 ตัน เหลือ 165,940 ตัน ในขณะที่การส่งออกข้าวของเมียนมากลับเพิ่มขึ้นถึง 81% จากเดิมอยู่ที่ 79,940 ตัน เป็น 144,550 ตัน ในช่วงเวลาเดียวกัน
"เรามองว่าเมียนมาเป็นคู่แข่ง เพราะพวกเขากำลังพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับเรา และข้าวของเมียนมาก็มีราคาถูกกว่า ซึ่งทางกัมพูชาควรมุ่งเน้นที่การส่งออกข้าวหอม และปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า เมียนมาและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อื่นๆ ไม่สามารถผลิตข้าวหอมได้อย่างเรา"
นายขิม สาวุธ รองประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวกัมพูชากล่าวจากรายงานของ EC ระบุว่า ข้าวขาวของกัมพูชาขายอยู่ที่เฉลี่ย 430 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ไม่มีการเอ่ยถึงราคาข้าวจากเมียนมา
ด้าน นายฮุน หลัก ประธานบริษัทส่งออกข้าว Mekong Oryza Trade กล่าวว่า ข้าวเมียนมามีราคาถูกกว่าข้าวกัมพูชา ประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อตัน อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้การส่งออกข้าวกัมพูชาไปอียูลดลง เช่น สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้หลายประเทศในอียูนำเข้าสินค้าน้อยลง ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวกัมพูชาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการเพิ่มยอดขาย โดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรือ IRRI ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในฟิลิปปินส์ เปิดตัวโครงการทดลองปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่ในกรุงพนมเปญ เพื่อต้องการช่วยให้เกษตรกรรายย่อยในกัมพูชา มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายได้เป็นอย่างดี
"ภัยแล้งและน้ำท่วมถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับการปลูกข้าว ซึ่งตอนนี้เราประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้นหากเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ทนต่อสภาพแวดล้อม ขนาดความเสียหายก็จะขยายวงกว้างมากขึ้น" ดร.ดูล เจ้า นักปรับปรุงพันธุ์และผู้แทนจาก IRRI ประจำประเทศกัมพูชาอธิบาย
โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมาย คือ ฝึกอบรมทั้งเกษตรกรและบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้หันมาใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพที่ดีกว่า เพื่อการเพาะปลูกที่ยั่งยืน
นายไธ โสคุน เลขานุการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา เผยว่า เมื่อปี 2554-2556 พื้นที่เพาะปลูกกว่า 1 ล้านเฮกตาร์ ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งและน้ำท่วม และเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ บวกกับขาดการพัฒนาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว
"เหตุผลหลักที่ทำให้การ พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวในกัมพูชาดำเนินไปอย่างเชื่องช้าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ความไม่ก้าวหน้าของการผลิตและทำการตลาดที่มักไม่ทำกำไร ทำให้ไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชน" นายโสคุนกล่าว
ด้านอับเดลบากี อิสมาอิล นักวิทยาศาสตร์จาก IRRI มองว่า ข้อได้เปรียบเบื้องต้นของกัมพูชาที่ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คือ การมีเศรษฐกิจแบบเปิดและการเชื่อมโยงที่เข้มแข็งกับประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีการส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับสองและสามของโลกแต่ พื้นที่การเกษตรของกัมพูชาที่เริ่มถูกแปรสภาพเป็นโครงการก่อสร้างมากขึ้น บวกกับจำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้น
จึงจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพการ ปลูกข้าวเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอ และพร้อมที่จะแข่งขันด้วย แม้ว่ากัมพูชาจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 5 ของโลก แต่สามารถผลิตข้าวได้เฉลี่ยเพียงเฮกตาร์ละ 3.2 ตัน ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามผลิตได้ 5 ตัน
ด้านรัฐบาลกัมพูชา ตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตันภายในปีนี้ ขณะที่ปี 2557 ส่งออกได้เพียง 400,000 ตัน แต่สัญญาณบวกที่ผ่านมาเริ่มฉายแนวโน้มที่สดใสของธุรกิจข้าว โดยซินหัวรายงานถึงยอดส่งออกข้าวของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 243,025 ตัน พุ่งขึ้นประมาณ 63% จากระดับ 148,264 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้
ตามรายงานของสำนักงานเลขาธิการด้านการส่งออกข้าวระบุว่า บริษัทข้าวของกัมพูชา 69 แห่ง ได้ส่งออกข้าวไปยัง 46 ประเทศทั่วโลก โดยส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด รองลงมาคือ ฝรั่งเศส และโปแลนด์ โดยตัวเลขการส่งออกอยู่ที่ 68,437 ตัน 29,717 ตัน และ 26,513 ตัน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม นายซัน จันทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เปิดเผยเมื่อช่วงต้นปีนี้ว่า กัมพูชาอาจไม่บรรลุเป้าหมายส่งออกข้าวที่วางไว้ เนื่องจากขาดแคลนโรงสีและไม่มีเงินทุน
แม้ปัจจุบันข้าวที่ส่งออกจาก กัมพูชาจะยังมีปริมาณไม่มากนัก หากเทียบกับข้าวไทยที่ส่งออก 9-10 ล้านตันต่อปี และข้าวเวียดนามปีละ 6-7 ล้านตัน แต่หากอนาคตที่กัมพูชาสามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณส่งออกเพียงพอที่ จะแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยได้ กลายเป็นคู่แข่งสำคัญอีกรายที่มาแย่งตลาดข้าวไทย เวลานั้นเกษตรกรไทยจะเป็นอย่างไร...ข้าวหอมมะลิไทย ก็อาจถึงคราตกกระป๋อง
ข้อมูลจาก mfa.go.th