data-ad-format="autorelaxed">
เศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง - เป็นหนึ่งในแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตที่ยึดหลักความพอเหมาะพอดี มีเหตุมีผลและความไม่ประมาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือปฏิบัติด้วยพระองค์เองทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดำรงชีวิตเป็นแบบอย่างได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งได้พระราชทานพระราชดำริให้แก่คนไทยนำไปปฏิบัติตั้งแต่ปี 2517 ดังพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2517
ความตอนหนึ่งว่า
“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการ และใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้วจึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยาก ล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้...”
กระทั่งในปี 2540 ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยตื่นตัว และเห็นประโยชน์อย่างชัดเจนขึ้นเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจของสังคมไทยที่สะสมต่อเนื่องหลายปี ความฟุ้งเฟ้อจากภาวะเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ทำให้สังคมไทยขาดจิตสำนึกของความพอดีและพอเพียง มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือยทั้งในภาครัฐ เอกชน และประชาชน การดำเนินงานด้านต่าง ๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่ระมัดระวัง ขาดความประหยัด และขาดสติที่จะปฏิบัติงานและดำเนินชีวิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทรงเห็นความสำคัญของความ“พออยู่พอกิน” ซึ่งมีผลต่อราษฎรและประเทศชาติ ที่สำคัญคือเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนไทยดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบสัมมาชีพ รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รู้จักประมาณตน และดำรงชีวิตอย่างรู้จัก“คิด อยู่ ใช้ กิน อย่างพอเพียง”
“หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นโครงการที่กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แนวคิดที่ให้ประชาชนดำเนินวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และแม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ค่อยๆซึมลึกลงไปสู่วิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่ก็ต้องอดทนอย่างมุ่งมั่นที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดทั้งของผู้นำชุมชนและประชาชนในหมู่บ้าน/ตำบลไปในทางที่ดี ให้เกิดความตระหนักและสำนึกในความพอเพียงด้วยความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ที่ดี ด้วยความรู้คู่คุณธรรม จนกระทั่งมีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีการประเมินผล กิจกรรมต่างๆที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละชุมชน ซึ่งกิจกรรมแต่ละกิจกรรมที่ได้ดำเนินงานในหมู่บ้าน จะถูกประเมินผลและสรุปผลการดำเนินงาน รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและกระบวนการจากปัญหาที่เกิดขึ้น และนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพ จนเป็นที่ยอมรับ
ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ของนักพัฒนา หรือ “พัฒนากร” ข้าราชการสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่พร้อมเดินหน้า เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา อย่างจริงใจ ไปพร้อมกับผู้นำชุมชน ประชาชน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คือ “คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ...ทฤษฎีของพ่อเพื่อประชาชน
เสียงจากชุมชน คน พช.
กรมการพัฒนาชุมชน