data-ad-format="autorelaxed">
ราคานํ้าตาลทรายโลกขยับขึ้นต่อเนื่อง มีโอกาสแตะที่ 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ กองทุนอ้อยและนํ้าตาลทรายมั่นใจ ฤดูการผลิต 2559/2560 ไม่ต้องกู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนผลิตให้ชาวไร่ ประเมินราคาอ้อยวิ่งขึ้นถึง 1พันบาทต่อตัน หลังจากฤดูที่ผ่านมาต้องช่วย 1.5 หมื่นล้านบาท เริ่มจ่ายต้นก.ค.นี้ ขณะที่บราซิลฟ้อง WTO แล้ว เหตุไทยอุดหนุนส่งออกนํ้าตาลจี้ปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและนํ้าตาลทรายแก้ปัญหา
นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานไปดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินในการกู้เงินมาเพื่อช่วยเหลือต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยในฤดู 2558/2559 ในอัตรา 160 บาทต่อตัน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำราคาขั้นต้นอยู่ราว 808 บาทต่อต้นโดยจะให้สถาบันการเงินต่างๆ เสนอเงื่อนไขและดอกเบี้ยอัตราต่ำไม่เกิน 4.25 % ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของดอกเบี้ยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ราย
สำหรับการกู้เงินในครั้งนี้ จะอยู่ในวงเงินประมาณ 1.504 หมื่นล้านบาท ตามปริมาณอ้อยที่เข้าหีบปรับตัวลดลงอยู่ที่ 94.04 ล้านตัน เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีอ้อยเข้าต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 106 ล้านตัน และต้องกู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตราว 1.69 หมื่นล้านบาท โดยเงินกู้ดังกล่าวคาดว่าจะสามารถจ่ายให้กับชาวไร่อ้อยที่มีอยู่ราว 1.6 แสนรายได้ประมาณต้นทุนเดือนกรกฎาคมนี้
“การกู้เงินครั้งนี้ เนื่องจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายขาดสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีรายได้จากการเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท ทำให้มีรายได้เข้ามาประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท แต่ไม่สามารถเพียงพอที่จะนำมาใช้พยุงราคาอ้อยได้ เนื่องจากต้องนำเงินไปทยอยใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ที่กู้มาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ซึ่งยังเป็นหนี้อยู่ราว 2.6 หมื่นล้านบาท และต้องชำระหนี้คืนให้หมดภายในเดือนสิงหาคม 2561”
นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มของราคาน้ำตาลทรายโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำตาล ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์ และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตใหม่จะขึ้นไปถึงระดับ 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอ้อยในฤดู 2559/2560 ขึ้นไปอยู่ในระดับ 900 บาทต่อตัน เป็นอย่างต่ำ และมีโอกาสที่จะขึ้นไปถึง 1 พันบาทต่อตันได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับสถานการณ์ในขณะนั้นว่า ราคาขายน้ำตาลทรายจริงจะเป็นเท่าใด รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทด้วย
ดังนั้น หากสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในฤดูหน้า เป็นไปอย่างที่คาดไว้ จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตเหมือนกับฤดูที่ผ่านมาอีก และจะทำให้ฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกมีความไม่แน่นอน ซึ่งบางปีราคาอาจจะตกต่ำมาก เหมือนกับปีที่ผ่านมา การจะกู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อย จึงถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน และกรณีการช่วยเหลือนี้เอง ทางประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลก ได้มีการนำกรณีการช่วยเหลือชาวไร่ ไปฟ้ององค์การการค้าโลก(WTO) ในการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการผลิตให้มีการส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการผิดหลักทางการค้า ซึ่งในวันที่ 25 พฤษภาคม นี้ทางกระทรวงพาณิชย์ จะมีการชี้แจงและเตรียมที่จะหามาตรการต่อสู้กับทางบราซิล
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นจะต้องมีการเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้ว ใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับปรุงพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ 2.การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย 3.การกำหนดต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทราย และมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทราย 4.การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายและ 5.การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
โดยทั้ง 5 เรื่องนี้ทางครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ โดยเฉพาะการนำรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากอ้อยและน้ำตาลทราย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเอทานอล ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะต้องเร่งหารือกันทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ว่าภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย ว่าจะนำรายได้จากส่วนต่างๆ นี้มาแบ่งกันอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าหากได้ข้อยุติแล้ว จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องมาขอให้รัฐบาลช่วยต้นทุนการผลิต และไม่ขัดกับกฎของ WTO ด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 – 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559