data-ad-format="autorelaxed">
1. การผลิตสับปะรดที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างและปลอดศัตรูพืช
เน้นให้เกษตรกรมีความรู้และมีทักษะจะสามารถผลิตสับปะรดที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่พึงพอใจแก่ผู้ค้าและผู้บริโภค โดย
1.1 ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสับปะรด โดยใช้ศัตรูธรรมชาติ
- ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูสับปะรดที่สำคัญ และพบทั่วไปในไร่สับปะรดมีเพียงชนิดเดียว คือ ด้วงเต่า ตัวเต็มวัยมีขนาดยาว 4.0 – 4.5 มิลลิเมตร ลำตัวด้านบนนูนโค้งสีดำ ด้านล่างแบนราบคล้ายเพลี้ยแป้ง ตัวหนอนและตัวเต็มวัยของด้วงเต่าเป็นตัวห้ำ กัดกินเพลี้ยแป้งแมลงศัตรูสำคัญของสับปะรด ดังนั้น การป้องกันกำจัดศัตรูสับปะรด ควรใช้วิธีการที่ปลอดภัยตามคำแนะนำ เพื่ออนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ดังกล่าว
1.2 ป้องกันการตกค้างของไนเตรทในผลสับปะรด โดยดำเนินการดังนี้
- ให้ปุ๋ยและให้น้ำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ห้ามใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหลังการบังคับดอกแล้ว
- ห้ามทำลายจุกสับปะรด
- ในแหล่งที่เคยพบปริมาณไนเตรทตกค้างสูงในผลสับปะรด ควรเก็บตัวอย่างใบในระยะบังคับดอก วิเคราะห์ปริมาณธาตุโมลิบดินัม ถ้าพบความเข้าข้นของธาตุต่ำกว่า 1 ส่วนในล้านส่วน ให้พ่นใบสับปะรดด้วยธาตุโมลิบดินัม อัตรา 5 มิลลิกรัมต่อต้นในระยะดอกแดง หรือ โพแทสเซียมคลอไรด์ อัตรา 8 กรัมต่อต้น หลังการบังคับดอกแล้ว 75 วัน
1.3 ต้องใช้สารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมายมีเลขทะเบียนวัตถุอันตราย และไม่ใช้สารเคมีที่ห้ามใช้ หรือยกเลิกการใช้ทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
1.4 ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องเหมาะสม
การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม มีข้อแนะนำควรปฏิบัติ ดังนี้
- ตรวจซ่อมอุปกรณ์เครื่องพ่นอย่าให้มีรอยรั่ว เพื่อป้องกันสารพิษปนเปื้อนเสื้อผ้า และร่างกายของผู้พ่น
- ต้องสวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันสารพิษ ได้แก่ หน้ากาก หรือผ้าปิดจมูกถุงมือ หมวก และรองเท้า เพื่อป้องกันอันตรายจากสารพิษ
- อ่านฉลากคำแนะนำ คุณสมบัติ และการใช้ของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง
- ควรพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติ ผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
- เตรียมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชสำหรับใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
- ปิดฝาภาชนะบรรจุสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้สนิทเมื่อเลิกใช้ เก็บไว้ในที่มิดชิดห่างจากสถานที่ปรุงอาหาร แหล่งน้ำ และต้องปิดกุญแจโรงเก็บทุกครั้ง
- ภายหลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูทุกครั้งผู้พ่นต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที เสื้อผ้าที่ใส่ขณะพ่นสารต้องซักให้สะอาดทุกครั้ง
- ไม่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้จะสลายตัวถึงระดับปลอดภัย โดยดูจากตารางคำแนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือฉลากที่ภาชนะบรรจุ
- เมื่อใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหมดแล้ว ให้ล้างขวดบรรจุสารด้วยน้ำ 2 – 3 ครั้ง เทน้ำลงในถังพ่นสาร ปรับปริมาตรน้ำตามความต้องการก่อนนำไปใช้พ่นป้องกันกำจัดศัตรูพืช สำหรับภาชนะบรรจุสารที่ใช้หมดแล้ว คือ ขวด กล่องกระดาษ และถุงพลาสติก ให้ทำลายโดยการฝังดินห่างจากแหล่งน้ำ และให้มีความลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถคุ้ยขึ้นมาได้ ห้ามเผาไฟ และห้ามนำกลับมาใช้อีก
1.5 จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง เกษตรกรควรบันทึกการปฏิบัติงานในขั้นตอนการผลิตต่างๆ ให้มีการตรวจสอบได้ หากเกิดข้อบกพร่องขึ้น สามารถจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงได้ทันท่วงที ได้แก่
- สภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณฝน
- พันธุ์สับปะรด วันที่ปลูก ขนาดของหน่อ หรือจุกที่ใช้ปลูก อัตราการปลูก
- วันที่ให้ปุ๋ย ให้น้ำ
- การระบาดของศัตรูพืช ชนิดและปริมาณ
- วันที่พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ชนิด อัตราและวิธีการใช้ แหล่งที่มาของสารเคมี
- วันที่สับปะรดออกดอก และเก็บเกี่ยวผลผลิต
- ปริมาณไนเตรท การเกิดผลแกน จำนวนผลแกน
- ค่าใช้จ่าย ปริมาณและคุณภาพผลผลิต และรายได้
- ปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ ตลอดฤดูปลูก การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง
2. ผลิตสับปะรดที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
สภาพพื้นที่ปลูกในสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม
- ควรอยู่ในเขตเกษตรเศรษฐกิจสับปะรด
- พื้นที่ราบหรือที่ดอน
- ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร
- ความลาดเอียงประมาณ 1 – 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ควรเกิน 5 – 10 เปอร์เซ็นต์
- ไม่มีน้ำท่วมขัง
- ห่างไกลจากแหล่งมลพิษ
- การคมนาคมสะดวก อยู่ใกล้โรงงานหรือแหล่งรับซื้อผลผลิต
ลักษณะดิน
- ดินร่วนหรือร่วนปนทราย
- ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์
- การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี
- ระดับหน้าดินลึก ไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
- ค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 4.5 – 5.5
สภาพภูมิอากาศ
- อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ประมาณ 24 – 30 องศาเซลเซียส
- ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ ประมาณ 1000 – 1500 มิลลิเมตรต่อปี
- มีแสงแดดจัด
แหล่งน้ำ
- ควรมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้เมื่อจำเป็น
- ต้องเป็นน้ำสะอาดปราศจากสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่มีพิษปนเปื้อนวางแผนการผลิตเนื่องจากคุณภาพสับปะรดลดลงอย่างรวดเร็วหลังเก็บเกี่ยว จำเป็นต้องวางแผนการผลิต เพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของโรงงานและตลาด ตลอดปี
- ตกลงราคาและปริมาณกับผู้ซื้อไว้ล่วงหน้า
- ในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำ ให้ปลูกช่วงต้นฤดูฝน
- ในพื้นที่มีแหล่งน้ำ ให้ทยอยปลูกตลอดปี
- ช่วงฤดูแล้งควรปลูกด้วยจุก ช่วงฤดูฝนควรปลูกด้วยหน่อ เพื่อเป็นการกระจายการผลิต
พันธุ์
การเลือกพันธุ์
- ผลผลิตมีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ
- เจริญเติบโตดี เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ
- คุณภาพสับปะรดขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์สำหรับบริโภคสด
พันธุ์ที่นิยมปลูก
สับปะรดที่มีคุณสมบัติดี และนิยมปลูกเป็นการค้ามี 2 กลุ่มคือ
พันธุ์สำหรับส่งโรงงาน มีเพียง 1 พันธุ์ คือ ปัตตาเวีย เป็นพันธุ์ที่ขอบใบไม่มีหนาม หรือมีหนามเพียงเล็กน้อยบริเวณปลายใบผลรูปทรงกระบอก ตาตื้น
พันธุ์สำหรับบริโภคสด มี 5 พันธุ์ ลักษณะแตกต่างกัน และจะมีคุณภาพดีตรงตามพันธุ์ เมื่อปลูกในแหล่งที่เหมาะสมเท่านั้น
- นางแล ใบมีขอบเรียบหรือมีหนามเล็กน้อย ผลรูปทรงกลม ตานูน เปลือกบาง เนื้อหวานจัด สีเหลืองทอง ตำบลนางแล อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งปลูกเหมาะสมที่สุด
- ภูเก็ต ตราดสีทอง และสวี ขอบใบมีหนามมาก ผลมีตาลึก เมื่อแก่จัดเปลือกสีส้ม และ มีส่วนของกลีบดอกอยู่ที่เปลือก เนื้อหวานกรอบมีรูพรุน สีเหลืองเข้ม พันธุ์สวีจะมีผลสั้นกว่าพันธุ์ภูเก็ตและพันธุ์ตราดสีทอง จังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ภูเก็ต จังหวัดตราด เป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ตราดสีทอง และอำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์สวี
การปลูก
การเตรียมดิน
- พื้นที่เคยปลูกสับปะรด ให้ไถสับใบและต้น ทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 เดือน แล้วไถกลบ
- ไถ 1 ครั้ง ตากดิน 7 – 10 วัน พรวน 1 – 2 ครั้ง ยกแปลงสูง 15 เซนติเมตร แล้วทำแนว ปลูกสับปะรด
- ถ้าพื้นที่ลาดเอียงมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ระบุในข้อ 1.1 ต้องทำร่องระบายน้ำรอบแปลงปลูก เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน
- วิเคราะห์ดินก่อนปลูก และปฏิบัติตามคำแนะนำในแต่ละแหล่งปลูก โดยเฉพาะการจัดการอินทรีย์วัตถุในดิน
วิธีการปลูก
การปลูกด้วยหน่อ
- คัดหน่อให้มีขนาดเดียวกันสำหรับปลูกในแต่ละแปลงเพื่อเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน
- หน่อที่ใช้ปลูกมี 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก (300 – 500 กรัม) ขนาดกลาง (500 – 700 กรัม) และขนาดใหญ่ (700 – 900 กรัม )
- ไม่ควรใช้หน่อพันธุ์ที่หักจากต้นแล้วเก็บไว้นานเกินไป
- สามารถบังคับดอกได้เมื่ออายุปลูก 8 – 12 เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่อที่ใช้ปลูก
การปลูกด้วยจุก
- ปลูกด้วยจุกที่มีขนาดตั้งแต่ 180 กรัม
- สามารถบังคับดอกได้เมื่ออายุปลูก 10 – 14 เดือน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาปลูก การปลูกและระยะปลูก
- ชุบหน่อพันธุ์หรือจุก ก่อนปลูก ด้วยสารป้องกันโรครากเน่า หรือ ต้นเน่า โดยเฉพาะ การปลูก ช่วงฤดูฝน
- ปลูกแถวคู่ ระยะปลูก 30 x 05 (80 – 90 เซนติเมตร) ปลูกได้ประมาณ 7500 – 8500 ต้นต่อไร่ แต่ไม่ควรเกิน 12000 ต้นต่อไร่
การดูแลรักษาสับปะรด
การใส่ปุ๋ยสับปะรด
- สับปะรดต้องการธาตุอาหารหลัก (N P และ K ) ในแต่ละฤดูการผลิต
- ไนโตรเจน 6 – 9 กรัม N ต่อต้น หรือยูเรีย อัตรา 116 – 169 กิโลกรัมต่อไร่
- ฟอสฟอรัส 2 – 4 กรัม P2 O5 ต่อต้น หรือทริพเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต อัตรา 38 - 76 กิโลกรัมต่อไร่
- โพแทสเซียม 8-12 กรัม K2 O ต่อต้นหรือโพแทสเซียมคลอไรด์ 113-170กิโลกรัมต่อไร่
การให้ปุ๋ยต้นปลูก ให้เลือกวิธี 1 หรือ 2
1. วิธีการให้ปุ๋ยทางกาบใบ
ให้ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16 - 20 - 0 และให้ปุ๋ยบริเวณกาบใบล่างของต้น ด้วยปุ๋ยเคมีสัดส่วน 2 :1 :3 หรือ 3 : 1 : 4 เช่น สูตร 12 - 6 - 15 หรือ 12 - 4 - 18 หรือ 13 - 13 - 21 ให้ 2 ครั้งๆ ละ 10 - 15 กรัมต่อต้น ครั้งแรกหลังปลูก 1 - 3 เดือน ครั้งต่อมาห่างกัน 2-3 เดือน หากไม่ได้ให้ปุ๋ยรองพื้นจะให้ปุ๋ยทางกาบใบล่างของต้นก็ได้แต่เพิ่มจำนวนเป็น 3 ครั้ง เมื่อสับปะรดมีใบสีเขียวซีดจาง เนื่องจากได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ ให้พ่นปุ๋ยทางใบเสริมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 23-0-30 ผสมน้ำเข้มข้น 5 % อัตรา 75 มิลลิลิตรต่อต้น จำนวน 3 ครั้ง คือระยะก่อนบังคับดอก 30 วัน 5 วัน และหลังบังคับดอก 20 วัน
2. วิธีการให้ปุ๋ยทางดินร่วมกับการพ่นทางใบ
ให้ปุ๋ยรองพื้นและ/หรือการให้ปุ๋ยบริเวณกาบใบล่างของต้น 1 ครั้ง อัตรา 10-15 กรัมต่อต้น หลังปลูก 1-3 เดือน ตามข้อ 1 พ่นทางใบเดือนละ 1 ครั้ง จนต้นได้ขนาดที่จะบังคับดอก ด้วยปุ๋ยเคมีประกอบด้วย
- แอมโมเนียมซัลเฟต 30 กิโลกรัม - เหล็กซัลเฟต 3 กิโลกรัม
- โพแทสเซียมคลอไรด์ 10 กิโลกรัม - สังกะสีซัลเฟต 0.5 กิโลกรัม
- แมกนีเซียมซัลเฟต 1 กิโลกรัม - บอแรกซ์ 0.1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 1,000 ลิตร พ่นในพื้นที่ 1 ไร่
การให้ปุ๋ยต้นตอสับปะรด
- หลังเก็บเกี่ยวให้ใช้มีดตัดต้นและใบแล้วเร่งการเจริญเติบโตของหน่อด้วยการใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 หรือ แอมโมเนียมซัลเฟต บริเวณกาบใบล่าง ของต้นตอเดิม อัตรา 7-15 กรัมต่อต้น
- ให้ปุ๋ยทางกาบใบ ด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-15 หรือ 13 -13 - 21 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อต้น จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังจากเลือกหน่อที่จะไว้ตอแล้ว และครั้งต่อมาอีก 4 เดือน
- เมื่อสับปะรดมีใบสีเขียวซีดจาง เนื่องจากได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ ให้หยอดหรือพ่นด้วยปุ๋ยเคมีจำนวน 3 ครั้ง เช่นเดียวกับการให้ปุ๋ยต้นปลูก
การให้น้ำสับปะรด
ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ถ้ามีปริมาณน้ำฝนสม่ำเสมอตลอดฤดูฝน ในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ควรให้น้ำต้นสับปะรดที่กำลังเจริญเติบโตสัปดาห์ละ 1-2 ลิตรต่อต้น หลังใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้าย ถ้าไม่มีฝนต้องให้น้ำเพื่อให้ต้นสับปะรดใช้ปุ๋ยให้หมดควรให้น้ำก่อนและหลังการออกดอกหยุดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยว 15-30 วัน
การบังคับดอกสับปะรด
ในแปลงเดียวกัน ควรบังคับดอกพร้อมกัน บังคับดอกหลังการให้ปุ๋ยทางกาบใบแล้ว 2 เดือน หรือหลังการพ่นปุ๋ยทางใบ 1 เดือน บังคับดอกเมื่อต้นสับปะรดมีน้ำหนักต้นปลูกประมาณ2.5-2.8 กิโลกรัม และน้ำหนักต้นตอประมาณ 1.8-2.0 กิโลกรัม ด้วยสารผสมของแอทธิฟอน (39.5 %) อัตรา 8 มิลลิลิตร กับปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 300 กรัม และน้ำ 20 ลิตร อัตรา 60-75 มิลลิลิตรต่อต้น หรือใส่ถ่านแก๊ส อัตรา 1-2 กรัมต่อต้น ในขณะมีน้ำอยู่ในยอดทั้ง 2 วิธี บังคับ 2 ครั้ง ห่างกัน 4-7 วันทำการบังคับดอกในช่วงเย็นหรือกลางคืน หากมีฝนตกภายใน 2 ชั่วโมง หลัง หยอดสารบังคับดอก ควรหยอดซ้ำภายใน 2 -3 วัน
การเก็บเกี่ยว
ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
สับปะรดสำหรับโรงงาน
- เก็บเกี่ยวผลสับปะรดที่มีความสุกแก่ตามมาตรฐาน
- ห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดเร่งให้สับปะรดสุกก่อนกำหนด
สับปะรดสำหรับบริโภคสด
- เก็บเกี่ยวเมื่อตาสับปะรดเริ่มเปิด 2-3 ตา หรือผิวเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
วิธีการเก็บเกี่ยวสับปะรด
สับปะรดสำหรับส่งโรงงานให้ใช้มือหักผลออกจากต้นโดยไม่ต้องเหลือก้าน แล้วหักจุกออกสับปะรดสำหรับบริโภคสด ใช้มีดตัดให้เหลือก้านยาวติดผลประมาณ 10 เซนติเมตร ไม่ต้องหักจุกออก
การจัดการต้นตอสับปะรด
สับปะรดสามารถไว้ตอได้ 1-2 ครั้ง เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้ใช้มีดตัดต้นสับปะรดระดับเหนือดิน 20-30 เซนติเมตร และตัดใบให้เหลือประมาณ 10 เซนติเมตรใช้ต้นและใบสับปะรดคลุมดินเพื่อรักษาความชื้น และป้องกันการงอกของวัชพืช ให้ปุ๋ยและน้ำตามคำแนะนำหักหน่ออากาศ หรือหน่อที่เกิดจากต้นไปใช้ขยายพันธุ์ เหลือเฉพาะหน่อดินไว้เป็นต้นตอ
วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
- คัดทิ้งผลแกน ถูกแดดเผา หรือจุดผิดปกติ
- คัดขนาดของผลตามมาตรฐานของโรงงานหรือผู้รับซื้อ
การเก็บรักษาผลผลิตและการบรรจุ
สับปะรดสำหรับบริโภคสด ล้างทำความสะอาด และตัดก้านผลให้เหลือประมาณ 2 เซนติเมตร จุ่มผลในสารผสมไขเคลือบผิว (sta-fresh 7055) กับน้ำอัตรา 1:7 ถึง 1:9 กับสารป้องกันกำจัดเชื้อราไทอะเบ็นดาโซล (40 %ดับบลิวพี) อัตรา 1,000 ส่วน ในล้านส่วน แล้วผึ่งให้แห้ง บรรจุในกล่องและเก็บในตู้คอนเทนเนอร์อุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส
การขนส่งสับปะรด
หลังการเก็บเกี่ยว ควรส่งโรงงานหรือผู้รับซื้อภายใน 1-2 วันรถบรรทุกสับปะรดต้องสะอาด และเหมาะสมกับปริมาณสับปะรด ไม่ควรใช้รถที่ใช้บรรทุกดิน สัตว์ มูลสัตว์ ปุ๋ย สารเคมี เพราะอาจมีการปนเปื้อน ยกเว้นจะมีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม ก่อนนำมาบรรทุกสับปะรดจัดเรียงผลสับปะรดให้ด้านจุกลงข้างล่าง เพื่อให้รับน้ำหนักและป้องกันผลช้ำ
ข้อมูลจาก ecitepage.com/viewtopic.php?t=65055