data-ad-format="autorelaxed">
เตือนภัยการเกษตรสภาพอากาศร้อนจัด มีฝนและมีลมกระโชกแรง จึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเฝ้าระวัง โรคแอนแทรคโนส แมลงวันผลไม้ และมะม่วงหล่นก่อนเก็บเกี่ยว
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.สุราษฎร์ธานี เตือนภัยการเกษตรสภาพอากาศร้อนจัด มีฝนและมีลมกระโชกแรง จึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเฝ้าระวัง โรคแอนแทรคโนส แมลงวันผลไม้ และมะม่วงหล่นก่อนเก็บเกี่ยว
สำหรับโรคแอนแทรคโนสนั้นเมื่อระบาดแล้วอาการที่พบสังเกตได้ด้วยตาเปล่าคือที่ใบอ่อนจะเกิดแผลสีน้ำตาล ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม ขนาดแผลไม่แน่นอน เมื่อแผลขยายติดกันจะเกิดอาการไหม้ บิดเบี้ยว บริเวณ ต้นอ่อน กิ่งอ่อน ก้านช่อดอกจะพบจุดแผลหรือขีดขนาดเล็กสีน้ำตาลแดงประ ปราย ขยายออกตามความยาว แผลบนต้นหรือกิ่งที่อ่อนมาก ๆ จะลุกลามทำให้กิ่งแห้ง เน่าดำทั้งต้น บนก้านช่อดอก จุดแผลมักขยายเชื่อมติดกัน เกิดอาการ ก้านช่อดำ กลีบดอกและผลอ่อนที่ถูกทำลายจะเป็นสีดำ และหลุดร่วง ผลแก่และผลสุกหลังเก็บเกี่ยวจะเกิดจุดแผลสีน้ำตาลถึงดำ แผลยุบตัวลึกลงไปในเนื้อผล ขนาดแผลไม่แน่นอน ลุกลามอย่างรวดเร็ว บริเวณกลางแผลอาจพบเมือกสีส้ม
แนวทางป้องกัน หลังการเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มให้มีขนาดเหมาะสมกับระยะปลูก เป็นการลดความชื้นในทรงพุ่ม ท้าให้แดดส่องถึง อากาศถ่ายเทสะดวก ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคและเก็บกวาดกิ่ง ใบที่ตกอยู่ใต้ต้น เก็บผลที่เป็นโรค รวมทั้งกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นไปเผาทำลาย ในแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคแอนแทรคโนสเป็นประจำ พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา
สำหรับแมลงวันผลไม้นั้นเพศเมียจะใช้อวัยวะวางไข่ แทงเข้าไปในผล ตัวหนอนที่ฟักจากไข่ จะอาศัย และชอนไชอยู่ภายใน ทำให้ผลเน่าเสีย และร่วงหล่นลงพื้น ตัวหนอนจะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดินแล้วจึงออกเป็นตัวเต็มวัย แมลงวันผลไม้วางไข่ในผลไม้สุก และมีเปลือกบาง ในระยะเริ่มแรกจะสังเกตได้ยาก อาจพบอาการช้าบริเวณใต้ผิว-เปลือก เมื่อหนอนโตขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ผลเน่าเละ และมีน้ำไหลเยิ้มออกทางรูที่หนอนเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ ผลที่ถูกทำลายนี้มักจะมีโรคและแมลงชนิดอื่น ๆ เข้าทำลายซ้ำ
แนวทางป้องกัน ทำความสะอาดแปลงเพาะปลูกโดยการรวบรวมและทำลายผลไม้ที่เน่าเสียจากแมลงวันผลไม้เข้าทำลาย ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาล หรือถุงกระดาษที่ภายในเคลือบด้วยกระดาษคาร์บอน โดยเริ่มห่อเมื่อมะม่วงติดผลได้อายุประมาณ 60 วัน ควบคู่กับการใช้กับดักสารล่อเมทธิล ยูจินอล เพื่อเป็นตัวชี้วัดปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูก โดยใช้กับดักที่ภายในแขวนก้อนสำลีชุบสารเมทธิล ยูจินอล ผสมสารฆ่าแมลง แขวนในทรงพุ่มที่ระดับความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร จำนวน 1 กับดักต่อพื้นที่ 1 ไร่
และหมั่นสังเกตปริมาณแมลงวันผลไม้ในกับดักทุกสัปดาห์ ถ้าพบว่ามีปริมาณแมลงวันผลไม้ในกับดักมากขึ้นให้พ่นสารฆ่าแมลงเพื่อลดปริมาณในแปลงปลูกต่อไป
ข้อมูลจาก dailynews.co.th/agriculture/399881