data-ad-format="autorelaxed">
การปลูกผักของคนในเมืองอาจมีข้อจำกัดมากกว่าในชนบท เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องสภาพพื้นที่ สภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม เพราะได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นสามารถปลดล็อกได้โดยง่าย ด้วยเทคโนโลยีการปลูกผักแบบใหม่ ที่เรียกว่า ระบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) หรือที่เรียกกันแบบง่ายๆ ว่า “ระบบการปลูกผักไร้ดิน”
สำนักงานเกษตรเขตสายไหม กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แนะนำให้รู้จักกับเกษตรกรคนเก่ง คือ คุณกฤษฎา ทัสนารมย์ เจ้าของ บริษัท ไลฟ์ลี่ การ์เด้นท์ จำกัด เบอร์โทร. (081) 855-2223, (080) 999-0364 คุณกฤษฎา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ เขาเรียนจบสาขาเกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านประสบการณ์การเป็นเกษตรกร อาจารย์พิเศษ สอนในระดับมหาวิทยาลัย และเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการออกแบบ ดูแล รักษา สวนหย่อม และการปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง
การปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์
คุณกฤษฎา กล่าวว่า การเพาะปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ คือระบบการปลูกพืชในน้ำที่มีสารละลายอาหารพืชอยู่ครบถ้วน ทำให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างปกติ พืชไม่มีความเครียดจากการขาดน้ำและธาตุอาหาร ข้อได้เปรียบของการปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์คือ
1. ควบคุมการใช้ธาตุอาหารของพืชได้ง่ายกว่าการปลูกพืชในดิน
2. ลดค่าแรงงานในการเตรียมพื้นที่ปลูกได้มาก
3. ประหยัดน้ำกว่าการให้น้ำกับพืชที่ปลูกทางดิน ไม่น้อยกว่า 10 เท่า
4. ควบคุมโรคในดินได้ง่ายกว่าการปลูกพืชในดินตามปกติ
5. สามารถปลูกพืชได้ในพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกพืชในดินได้ เช่น ดินไม่ดี หรือบนพื้นปูน
6. ได้ผลผลิตค่อนข้างสม่ำเสมอ และมีคุณภาพดีกว่าการปลูกในดิน
7. ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกพืชในดิน
8. ประหยัดเมล็ดพันธุ์มากกว่าการปลูกแบบใช้ดิน
อย่างไรก็ตาม การปลูกผักในระบบนี้ก็มีข้อด้อยอยู่บ้าง คือต้องลงทุนสูงในเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ผู้ปลูกต้องมีความรู้ด้านการจัดการ และเทคโนโลยีที่ใช้ในระบบปลูกต้องมีระบบน้ำและระบบไฟฟ้าที่พร้อม ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า มีข้อจำกัดของชนิดพืช ไม่สามารถปลูกพืชทุกชนิดที่สามารถปลูกในดินได้ นอกจากนี้ ยังมีการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางน้ำในระบบได้เร็วและยากต่อการควบคุม หากอุณหภูมิของสารละลายเกิน 29 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจน ในสารละลายจะลดต่ำ อาจส่งผลเสียต่อการปลูกผักได้
รูปแบบการปลูกผักไร้ดิน
คุณกฤษฎา กล่าวว่า รูปแบบของการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ที่ใช้หลักการ ให้ธาตุอาหารพืชในรูปของสารละลายโดยให้รากพืชจุ่มลงสารละลายธาตุอาหารพืชโดยตรงนั้น สามารถแบ่งเป็น 3 ระบบ ที่สำคัญ ได้แก่
1. ระบบ ดีอาร์เอฟ (Dynamic Root Floating, DRF) เป็นระบบที่ให้รากพืชแช่อยู่ในน้ำส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งลอยอยู่ในอากาศ เพื่อช่วยในการหายใจ ทำให้พืชสามารถเจริญในสารละลาย
2. ระบบ เอ็นเอฟที (Nutrient Film Techique, NFT) เป็นการปลูกพืชในรางตื้นๆ ที่ติดตั้งให้มีความลาดเอียง 1-3% โดยให้สารละลายไหลผ่านรากพืชเป็นชั้นแผ่นผิวบางๆ โดยสารละลายจะไหลหมุนเวียนผ่านรากตลอดเวลา ความยาวของระบบ มีตั้งแต่ 1-20 เมตร แต่ไม่ควรเกิน 20 เมตร เนื่องจากจะทำให้เกิดความแตกต่างของปริมาณออกซิเจนระหว่างหัวระบบและท้ายระบบ
3. ระบบ ดีเอฟที (Deep Floating Technique, DFT) เป็นระบบการปลูกพืชในสารละลายลึก 15-20 เซนติเมตร ในกระบะที่ไม่มีความลาดเอียง ปลูกบนแผ่นโฟม หรือวัสดุลอยน้ำได้ เพื่อใช้เป็นที่ยึดลำต้นให้มีการหมุนเวียนสารละลายจากถังพักขึ้นมาใช้ใหม่โดยใช้ปั๊ม การหมุนเวียนในระบบนี้เป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งในระบบนี้การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของสารละลายจะมีน้อยกว่า ระบบ NFT
การทำสวนผักไร้ดินเชิงการค้า
ปัจจุบัน คนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับปัญหาโรคมะเร็ง เบาหวาน โรคไต ความดัน ฯลฯ บางโรคอาจเกิดจากการรับประทานอาหาร บางโรคอาจเกิดจากสภาวะแวดล้อม บางโรคอาจเกิดจากหลายปัจจัยต่างๆ รวมกัน ซึ่งการบริโภค “ผัก” เป็นวิธีการหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงโรคภัยได้ เนื่องจากคุณสมบัติต่างๆ ของผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผักบางชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระ บางชนิดมีฤทธิ์เป็นยา บางชนิดช่วยในเรื่องการขับถ่าย ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงจากการรับประทานผัก
กระแสความนิยมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผักสดปลอดสารพิษ ทำให้ผักเป็นสินค้าที่ขายดีมาก มีมูลค่าตลาดสูงถึง 80,000 ล้านบาท ซึ่งการปลูกพืชผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกไม่ต้องเสียเวลารดน้ำ พรวนดินในแปลงผักให้เหนื่อย เพราะแปลงปลูกผักไร้ดินได้ถูกติดตั้งอุปกรณ์ดูแลแปลงผักแบบอัตโนมัติ ทุกๆ 1 ชั่วโมง ระบบสปริงเกลอร์จะฉีดพ่นละอองน้ำในแปลงผัก เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนในแปลงผัก เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว และให้ผลผลิตสมํ่าเสมอ
เกษตรกรสามารถวางแผนการปลูก กําหนดปริมาณสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดได้ตลอดเวลา หากประสงค์จะลงทุนทำแปลงปลูกผักไร้ดินขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินทุนหลักแสนขึ้นไป สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว หากผลิตเป็นผักสลัดกล่องนำมาขายปลีก
คุณกฤษฎา กล่าวว่า การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ ต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นค่าอุปกรณ์ หากใช้อุปกรณ์ชุดปลูก ขนาด 2x1 เมตร จำนวน 5 ท่อ มูลค่าชุดอุปกรณ์อยู่ที่ 2,500 บาทแล้ว นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนวัสดุสิ้นเปลือง ประเภทฟองน้ำ ปุ๋ยน้ำ เป็นต้น ความจริงสามารถประยุกต์ใช้สิ่งของรอบตัวมาใช้งานเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ เช่น นำกล่องนมมาใช้เป็นวัสดุปลูกผักได้ ก็ช่วยประหยัดเงินแถมช่วยลดขยะเหลือใช้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ปุ๋ยน้ำที่ขายในท้องตลาดมีราคาสูง หากเป็นไปได้ควรรวมกลุ่มผู้ปลูกผักไร้ดินเพื่อซื้อปุ๋ยมาแบ่งใช้รวมกัน ก็จะมีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง
จุดอ่อนที่ต้องระวังอีกประการหนึ่งของการปลูกผักในระบบนี้คือ การเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ผักจากร้านค้าที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป อาจมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ เพราะเป็นสินค้าเก่าค้างสต๊อก
ไอเดียเด็ด
“จัดสวนประดับด้วยผัก”
คุณกฤษฎา กล่าวอีกว่า การปลูกผักรับประทานเองนอกจากจะได้ประโยชน์จากการรับประทานผักปลอดสารพิษแล้ว ยังได้ความสุขทางใจอีกด้วยที่จะเห็นผักที่ตัวเองปลูก ค่อยๆ เจริญเติบโตงอกงาม จนสามารถนำไปบริโภคได้แล้ว เรายังสามารถนำผักมาจัดเป็นไม้ประดับ และสวนประดับได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริกหลากพันธุ์ กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว บวบ กะเพรา โหระพา สะระแหน่ แมงลัก ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ผักปลัง น้ำเต้า สลิด ฯลฯ
การจัดสวนประดับด้วยผัก สามารถปลูกผักจับใส่กระถางวางบนดิน ดัดแปลงเป็นไม้แขวน หรือจะนำพืชผักประเภทเลื้อย ทำซุ้มไว้นั่งรับลม ได้ทั้งความสวยงามที่กินได้ แถมมีสุขภาพดี สำหรับบ้านที่มีลูกหลานเล็กๆ สามารถใช้ผักกระถางเป็นกุศโลบายช่วยสอนให้เขารู้จักผัก ซึ่งหลายคนไม่เคยเห็นว่าผักชนิดนี้เกิดจากต้นที่มีหน้าตาอย่างไร เติบโตอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และอยากกินผักมากขึ้น
รูปแบบการนำเอาผักสวนครัวมาจัดประดับบ้านนั้น ก็เหมือนสวนสวยงามทั่วๆ ไป คือควรคำนึงถึงเรื่องมุมมอง มีจังหวะการจัดวางที่ไล่ระดับสูง ต่ำ สีสันอาจจะดูไม่ฉูดฉาด แต่เราก็สามารถนำผักสวนครัวมาประดับรวมกับพืชประดับอื่นๆ ได้ โดยพืชสวนครัวที่เราเลือกมาใช้ อาจแทนค่าเป็นไม้ประดับได้ เช่น ขิง ข่า ก็ใช้แทนพวกเฮลิโคเนีย ผักชีฝรั่ง ก็อาจใช้แทนเฟิน หรือวอเตอร์เครต ก็อาจแทนไม้คลุมดินประเภทผักเป็ด หรือดาษตะกั่วได้
ทั้งนี้ คุณกฤษฎา แนะนำว่า ควรแบ่งชนิดผักออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นผักที่มีอายุค่อนข้างนาน เมื่อเด็ดใช้แล้วสามารถงอกขึ้นมาใหม่ เช่น กะเพรา โหระพา ซึ่งในกลุ่มนี้ควรจะเพาะปลูกอยู่ด้านในชิดตัวอาคาร ส่วนอีกกลุ่มเป็นผักที่มีอายุสั้น เมื่อเด็ดแล้วจะหมดไป เช่น คะน้า ผักบุ้ง เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้ควรปลูกอยู่ด้านนอก เมื่อเด็ดใช้หมดแล้วก็สามารถรื้อแปลงปลูกใหม่ได้ง่าย
ล่าสุด คุณกฤษฎา วางแผนจัดสร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ จัดสวนประดับด้วยผัก และการออกแบบ ดูแล รักษา สวนหย่อมในที่ดินของตัวเอง ซึ่งอยู่ตรงข้ามซอยสายไหม 45 หากเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คาดว่าศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ภายในกลางปี 2559 หากใครมีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เรื่องการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ สามารถติดต่อพูดคุยกับ คุณกฤษฎา ทัสนารมย์ ทางเบอร์โทร. (081) 855-2223, (080) 999-0364 ได้ทุกวัน
สาวบางแค (เรื่อง-ภาพ)
ติดตามข่าวสารอื่นๆได้ที่
http://www.facebook.com/Khaosodfarm
http://www.technologychaoban.com
ข้อมูลจาก
http://money.sanook.com/322243/