data-ad-format="autorelaxed">
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนามันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ "ห้วยบง 60" ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรค สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปีละหลายร้อยล้านบาท
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ หัวหน้าโครงการวิจัยและทีมนักวิจัยจากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า "ทีมงานได้ทำการพัฒนามันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ "ห้วยบง 60" ให้ทั้งผลผลิตหัวสด-หัวแห้ง ปริมาณแป้ง ในหัวสูงและต้านทานโรคใบจุด แป้งมีความหนืดเหมาะกับอุตสาหกรรม โดยได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นดีเยี่ยมประจำปี 2549 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจากสภาวิจัยแห่งชาติ"
มันสำปะหลังพันธุ์ "ห้วยบง 60" เป็นพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตหัวสดและปริมาณแป้งสูง แป้งมีความเหนียวสูง เหมาะกับอุตสาหกรรม มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง และการเจริญเติบโตดี ลำต้นสูงใหญ่ เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันของนักวิชาการของภาควิชาพืชไร่นา และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เดิมชื่อพันธุ์ MKUC 34-114-206 ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ระยอง 5 กับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ผ่านการคัดเลือกและทดสอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2544 ในท้องที่ 10 จังหวัดคือ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น สระแก้ว ปราจีนบุรี และระยอง จำนวน 30 การทดลอง ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า "ห้วยบง 60"
"ห้วยบง" เป็นชื่อตำบล ซึ่งเป็นที่ตั้งและเป็นสถานที่หลักในการพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังของ ศูนย์วิจัยมันสำปะหลัง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ของมูลนิธิสถาบันมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับ 60 คือปีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สถาปนาครบรอบปีที่ 60
ดร.วิจารณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มันสำปะหลังพันธุ์ "ห้วยบง 60" ได้ขยายและส่งเสริมแจกจ่ายให้เกษตรกรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545-2547 ไปประมาณ 10,000 ราย จำนวน 135 ล้านต้น ปลูกได้ประมาณ 50,000 ไร่ และสามารถเพิ่มผลผลิตเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี สำหรับในปี พ.ศ. 2548 มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 ประมาณ 200,000 ไร่ และจากการที่พันธุ์นี้ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่ละ 369 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 550 บาทต่อไร่ คิดเป็นเงินรวมประมาณ 100 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2550-2551 คาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกพันธุ์ห้วยบง 60 ประมาณ 1,625 ล้านไร่ เพิ่มเงินเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 890-1,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับมันสำปะหลังพันธุ์ "ห้วยบง 60" ได้ผลผลิตหัวสดสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และพันธุ์อื่น ๆ ที่นิยมปลูกอยู่ 350-750 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ประกอบกับหัวมีปริมาณแป้งสูงขึ้น ทำให้วัตถุดิบมีคุณภาพดี สามารถเปลี่ยนเป็นแป้ง และเอทานอลได้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร หากราคามันสำปะหลังสดเฉลี่ยที่ 1.20 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณไร่ละ 420-900 บาท หากครัวเรือนหนึ่งมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 20 ไร่ จะมีรายได้เพิ่มครัวเรือนละ 8,400-18,000 บาท ทั้งประเทศประมาณ 6.5 ล้านไร่ จะทำรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 2,730-5,850 ล้านบาท นอกจาก นี้ยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมแป้งและเอทานอล เนื่องจากพันธุ์ห้วยบง 60 มีแป้งในหัวเฉลี่ย 2.5-4 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พันธุ์อื่น ๆ ที่เกษตรกรปลูกกันมีแป้งในหัวเฉลี่ย 23-25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้หัวของพันธุ์ห้วยบง 60 เป็นวัตถุดิบ มีแป้งหรือเอทานอลได้สูงขึ้น นี่เป็นสิ่งบ่งบอกถึงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทย สูงขึ้นด้วย
ปัจจุบันมันสำปะหลังยังเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มความ มั่นคงด้านพลังงานและลดการนำเข้าน้ำมัน เนื่องจากวันที่ 1 มกราคม 2550 ทางรัฐบาลจะยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ซึ่งการใช้เอทานอลทดแทนน้ำมันเบนซินในอัตรา 10% ทำให้มีความต้องการใช้เอทานอลวันละ 3 ล้านลิตร ซึ่งต้องใช้ผลผลิตมันสำปะหลังวันละ 18,000 ตัน หรือปีละประมาณ 5.4 ล้านตัน จึงจะเห็นได้ว่าราคาหัวมันสำปะหลังมีเสถียรภาพมากขึ้นและยังประหยัดเงินตรา ต่างประเทศและเป็นการสร้างงานในประเทศอีกด้วย
มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 เป็นพันธุ์สำหรับเกษตรกรปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงานมันเส้น หรือโรงงานแป้ง สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมต่างๆ (ที่ใช้แป้ง) และในอนาคตสามารถใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเอทานอล และนำไปใช้ในกิจการอุตสาหกรรมและพลังงานทดแทน นี่เป็นสิ่งที่ทีมนักวิจัยได้ใช้ความพยายามในการพัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่ม ผลผลิตทั้งปริมาณหัว และแป้งให้ได้มากขึ้น และเป็นการสร้างและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้ประกอบ อาชีพอย่างมั่นคงต่อไป
อ้างอิง : ku.ac.th