data-ad-format="autorelaxed">
เปิดสถานีก๊าซผักตบชวา แห่งแรกของประเทศไทย
ขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ทำได้ง่ายโดย นำถังหมักมาแบ่งปริมาณออกเป็น 4 ส่วน
เนื่องด้วยวันที่ 12 สิงหาคม 2559 นี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 84 พรรษา เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี ปี 2559 กองงาน หนึ่งใจช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถอดบทเรียนจากผลงานวิจัย เรื่องการผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูงมาใช้ประโยชน์ เพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งโครงการนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัย จากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2558-2559 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดโครงการ ภาคีเครือข่าย ผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี ปี 2559 ซึ่ง สถานีก๊าซผักตบชวา ภาคีเครือข่ายฯ แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค. 34) สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย มีกำหนดเปิดเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาดูงาน แก่ประชาชน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา
ภายใน “สถานีก๊าซผักตบชวา” ภาคีเครือข่าย ผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี ปี 2559 ณ นพค.34 นั้น คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ได้จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย ของคณะวิจัย ได้แก่ รศ. ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้แก่ทีมวิทยากร แปดเซียนกู้โลก จาก นพค. 34 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายการแก้ปัญหาผักตบชวา ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผักตบชวา โดยการเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาแล้ว ยังจะช่วยประหยัดรายจ่ายในครัวเรือนด้านพลังงานทดแทนให้แก่เกษตรกรได้
ขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ทำได้ง่ายโดย นำถังหมักมาแบ่งปริมาณออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่บดสับแล้ว 1 ส่วน จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน และปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง หมักทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน จะเกิดก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ประมาณ 20-40 นาที ขึ้นอยู่กับศักยภาพของจุลินทรีย์ หลังจากนั้นสามารถเติมผักตบชวาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ การเกิดก๊าซชีวภาพจะลดลงในเวลาประมาณ 3-5 เดือน กากผักตบชวาหลังการหมักเสร็จสิ้นแล้ว ยังมีประโยชน์ เนื่องจากยังคงมีธาตุอาหารเหลืออยู่ สามารถนำไปใช้คลุมโคนต้นไม้ เพื่อเป็นวัสดุบำรุงดินและช่วยกักเก็บความชื้นในดินได้
ผู้สนใจองค์ความรู้เรื่อง การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง สามารถสมัครเข้ารับการอบรม หรือสนใจสมัครร่วมเป็น ภาคีเครือข่าย “ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” หรือสนใจองค์ความรู้ด้านการเกษตร ด้านต่าง ๆ ติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์ขวัญชัย นิ่มอนันต์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทรศัพท์ 09-5054-8240 หรือ 08-3559- 8448 อีเมล [email protected] หรือ [email protected] ไลน์ไอดี microku หรือ ajmaew.
ข้อมูลจาก dailynews.co.th