data-ad-format="autorelaxed">
การ ใช้ปุ๋ยให้คุ้มค่า เกษตรกรต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการใช้ปุ๋ยให้ “ถูกชนิด ถูกปริมาณ ถูกเวลา และถูกวิธี” แต่ขณะนี้เกษตรกรไทยเกือบ 100%ไม่มีการตรวจวิเคราะห์เอ็น-พี-เค ในดินก่อนปลูกพืช ทั้งยังใส่ปุ๋ยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ใส่ปุ๋ยไม่เหมาะสมกับดินและไม่ตรงตามความต้องการของพืช ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการผลิตพืช ดังนั้นจึงได้พัฒนาเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะผู้ปลูกข้าว, ข้าวโพด และอ้อยภาคอีสาน…นี่เป็นคำแนะนำจาก ศาสตราจารย์ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปุ๋ยสั่งตัด
“ปุ๋ยสั่งตัด” หรือ การจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่ เป็นการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับแต่ละชุดดินที่มีมากกว่า 200 ชุดดิน ทั้งยังต้องสอดคล้องกับความต้องการของพืช โดยนำปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช ได้แก่ พันธุ์พืช แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน ชุดดิน และปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดินมาพิจารณาร่วมกัน โดยใช้แบบจำลองการปลูกพืชและโปรแกรมสนับสนุนการตัดสินใจมาคำนวณโดยใช้ คอมพิวเตอร์ คาดคะเนคำแนะนำปุ๋ยเอ็น-พี-เค ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด เพื่อให้การใช้ปุ๋ยมีความแม่นยำและสอดคล้องกับความต้องการของพืช และยังสามารถคาดคะเนผลผลิตและผลตอบแทนที่เกษตรกรจะได้รับเมื่อใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด”
การใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด มี 3 ขั้นตอน ขั้นแรก เกษตรกรต้องตรวจสอบชุดดินในแปลงของตนเองก่อน โดยสามารถสอบถามข้อมูลชุดดินได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดหรือดูจากแผนที่ชุดดิน หรือสอบถามได้ที่เว็บไซต์ www.soil.doae.go.th ขั้นที่สองตรวจสอบปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดิน โดยเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจวิเคราะห์ หรือเกษตรกรอาจวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว (Soil Test Kit) และ ขั้นสุดท้าย ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ โดยศึกษาจากคู่มือคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสั่งตัด หรือโปรแกรม SimRice, SimCorn และ SimCane สำหรับข้าว ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งสามารถดาวน์โหลดฟรีได้จากเว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th (หรือ www.ssnm.info ในปัจจุบัน)
เกษตรกรส่วนใหญ่มองว่า การตรวจวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดิน มีวิธีการและขั้นตอนยุ่งยากจึงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ทำให้ไม่รู้จักดินในแปลงของตนเองอย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเก็บตัวอย่างดินเพื่อประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยเบื้องต้นต้องแบ่งพื้นที่ก่อน หากพื้นที่ใหญ่มากหรือดินไม่สม่ำเสมอและดินมีลักษณะแตกต่างกัน ปลูกพืชต่างกัน ใช้ปุ๋ยต่างกัน และดินมีสีต่างกัน ต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงย่อย และแยกเก็บดิน 1 ตัวอย่างต่อ 1 แปลงย่อย
การเก็บดินในแต่ละตัวอย่าง ให้เดินในลักษณะซิกแซ็ก สุ่มเก็บดินให้ทั่วแปลง แปลงละ 15 จุด ซึ่งการเก็บดินแต่ละจุดให้ใช้จอบหรือพลั่วขุดดินเป็นรูปลิ่ม ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร (นาข้าว) หรือลึก 15-20 เซนติเมตร (สำหรับข้าวโพด) ใช้เสียมหรือพลั่วแซะด้านหนึ่งของหลุมให้ได้ดินเป็นแผ่นหนา 2-3 เซนติเมตรจนถึงก้นหลุม ใช้เฉพาะส่วนกลางของแผ่น ตัวอย่างดินที่ได้นับเป็นตัวแทนของดินหนึ่งจุด นำตัวอย่างดินใส่รวมกันในกระป๋องพลาสติก และคลุกเคล้าดินในกระป๋องให้เข้ากัน เทลงบนผ้าพลาสติก
และคลุกเคล้าดินให้เข้ากันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าดินเปียก ตากในที่ร่ม ห้ามตากแดด ย่อยดินให้เป็นก้อนเล็ก ๆ กองดินเป็นรูปฝาชี แล้วขีดเส้นแบ่งกองดินเป็นสี่ส่วนเท่ากัน จากนั้นเก็บตัวอย่างจากกองดินเพียง 1 ส่วน ให้ได้ดินน้ำหนักประมาณ 0.5 กิโลกรัม ถ้าดินยังเปียกอยู่ ให้ผึ่งในที่ร่มต่อไป แล้วบดให้ละเอียดโดยใช้ขวดแก้วที่สะอาด เก็บใส่ถุงพลาสติกและเขียนหมายเลขกำกับไว้ ส่งตรวจวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดิน หรือทำการตรวจวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินด้วยตนเอง โดยใช้ ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบ
รวดเร็วของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU Soil Test Kit) ใช้เวลาเพียง 30 นาที ก็ทราบผลได้ ซึ่งชุดตรวจสอบดังกล่าว ราคาชุดละ 3,745 บาท สามารถตรวจสอบปริมาณธาตุอาหารเอ็น-พี-เค ในดินและความเป็นกรดด่างของดินได้ 50 ตัวอย่าง จะทำให้เกษตรกรทราบว่า ดินในแปลงของตนเองมีธาตุอาหาร เอ็น-พี-เค อยู่ในระดับต่ำ ปานกลางหรือสูง และใช้คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งนักวิจัยได้พัฒนาไว้ให้เรียบร้อยแล้วสำหรับข้าว ข้าวโพด และอ้อยภาคอีสาน คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” มีอยู่ในลักษณะเป็นรูปเล่มและในรูปของโปรแกรมซึ่งสามารถดาวน์โหลดฟรีได้จาก เว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th หรือ www.banrainarao.com ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้ถูกต้อง และลดต้นทุนการผลิต
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ทำการวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดิน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนปลูกพืช และเป็นแนวทางนำไปสู่การลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ใน “โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร”
ข้อมูลแนะนำเพิ่มเติม
การตรวจวิเคราะห์ค่าดินออนไลน์ เลือกค่าที่ต้องการวิเคราะห์แบบออนไลน์ ส่งดินเข้าตรวจทางไปรษณีย์ รออ่านผลตรวจหน้าเว็บไซต์ รวดเร็วภายใน 7 วัน สามารถใช้บริการได้ที่ www.iLab.Asia
แอพผสมปุ๋ย สามารถทดลองคำนวณการผสมปุ๋ยได้ด้วยตัวเอง
Android: ดาวน์โหลดแอพผสมปุ๋ยสำหรับแอนดรอยด์
iOS: ดาวน์โหลดแอพผสมปุ๋ยสำหรับไอโฟน
สำหรับท่านที่ต้องการสั่งผสมปุ๋ยเป็นสูตรใดๆก็ได้ ขั้นต่ำเพียง 1 ตัน หรือ 20 กระสอบ กระสอบละ 50 กิโลกรัม ทางฟาร์มเกษตร ยินดีให้บริการผสมปุ๋ยได้ทุกสูตร ตามที่คุณต้องการ คุณภาพสูงด้วยแม่ปุ๋ยชั้นดี ในราคาย่อมเยาว์
ติดต่อ ฟาร์มเกษตร หรือ FarmKaset.ORG โทร 089-459-9003
อ้างอิง ssnm.info
รูปภาพจาก wisegeek.com